BTS ยังรอลุ้นสัมปทานสายสีเขียวเข้า ครม.หลัง กทม.ไม่ถอนเรื่อง

นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการติดตามทวงถามหนี้ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ติดค้างค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียวกว่า 3 หมื่นล้านบาทว่า จากที่ศาลให้กทม.ส่งคำชี้แจงเรื่องค้างหนี้ค่าจ้างเดินรถ และทางกทม.ได้ขอเลื่อนส่งคำชี้แจงออกไป ขณะที่ กทม.มั่นใจว่าเรื่องการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะได้รับการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะจะได้แก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ

“เดิมทีทางศาลให้ กทม.ส่งคำชี้แจง แต่ กทม.ก็เห็นว่า เรื่องก็ยังส่งเข้าให้ ครม.พิจารณาอยู่ เพราะฉะนั้น กทม.ขอเลื่อนส่งคำชี้แจงไปก่อน เท่าที่ทราบ กทม.ก็ยังความมั่นใจว่าเรื่องนี้ก็จะได้รับการพิจารณาจาก ครม.แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หาก กทม.ไม่ได้ชำระหนี้ ซึ่งคิดว่าเกิดขึ้นได้ยากมาก ผมยังมองไม่เห็นว่าจะไปถึงขนาดนั้นได้อย่างไร”

ทั้งนี้ หาก ครม.ไม่อนุมัติตามที่ กทม.เสนอ รัฐบาลก็ต้องดูแลช่วยเหลือให้ กทม.นำเงินมาจ่ายหนี้ให้กับ BTS แต่เรื่องจะไม่ชำระหนี้เลยเป็นไปได้ยากมาก เพราะ กทม.ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ AA+ สูงกว่า BTS ซึ่งอยู่ระดับ A ทำให้บริษัทไม่ได้มีความกังวล โดยปัจจุบันหนี้ที่คงค้างมีอัตราดอกเบี้ย 5%ต่อปี

ส่วนการระบาดไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ปัจจุบันบริษัทยังไม่ได้รับผลกระทบ โดยตั้งแต่ที่รัฐบาลคลายมาตรการล็อกดาวน์เมื่อ พ.ย.ที่ผ่านมา จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีผู้โดยสารสูงขึ้นมาเป็น 40% ของช่วงก่อนโควิด (Pre- Covid) อย่างไรก็ตามบริษัทก็ยังติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

นางสาวศิริเพ็ญ หวังดำรงเวศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ BTS กล่าวเสริมว่า ในเดือน ก.ย. 64 จำนวนผู้โดยสาร อยู่ที่ 4.5 ล้านเที่ยว/วัน 21%ก่อนเกิดโควิด และในเดือน ต.ค.มีจำนวนผู้โดยสาร 6 ล้านเที่ยว/วัน คิดเป็น 30% ก่อนเกิดโควิด

อย่างไรก็ดี หลังจากที่คลายล็อกดาวน์ ในเดือน พ.ย. ขึ้นมา 40% และ ธ.ค.ก็ทยอยปรับตัวขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จำนวนผู้โดยสารจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นในไตรมาส 3-4 (ต.ค. 64-มี.ค.65) และงบปี 66 (เม.ย.65-มี.ค.67) เชื่อว่าคนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น กลับมาทำงาน และบางส่วนเริ่มทยอยเปิดเรียน ในปีหน้าจำนวนผู้โดยสารคาดจะใกล้ก่อนเกิดโควิด โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปีกว่าจำนวนผู้โดยสารจะกลับมาได้เท่าก่อนโควิด

ส่วนกรณีที่ BTS ยกเลิกการขายตั๋วแบบรายเดือนนั้นเนื่องจากพฤติกรรมการเดินทางเปลี่ยนแปลงไป ตั๋วรายเดือนอาจใช้ได้ไม่ครบจำนวนเที่ยว และทาง BTS ต้องการเพิ่มยอดจำนวนผู้โดยสาร โดยมีการโปรโมชั่นในการสะสมพ้อยท์เพื่อกระตุ้นให้ผู้โดยสารเดินทางมากขึ้น ยิ่งเดินทางมากขึ้นพ้อยท์ก็จะมีมากขึ้น จะทำให้รายได้ของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งทางราง บีทีเอสโกรท BTSGIF เพิ่มขึ้น

นายสุรยุทธ ยังกล่าวว่า เงินลงทุนของบริษัทในปีนี้คงใช้ไม่มาก โดยโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก (UTA) เป็นโครงการใหญ่ ซึ่งจะมีการลงทุนก่อสร้างเทอร์มินัล ที่ส่วนใหญ่จะมาจาก Project Finance และมาจากส่วนทุน ซึ่งจะใช้เงิน 9 พันล้านบาท โดยปัจจุบันมีทุนแล้ว 4.5 พันล้านบาท หากมีการส่งมอบพื้นที่ก็จะเพิ่มทุนอีก 4.5 พันล้านบาท ซึ่งในส่วน BTS ซึ่งถือหุ้น UTA สัดส่วน 35% จะลงทุนอีกกว่า 1 พันล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในสัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินหลักพันล้านบาท

ส่วนโครงการสายสีส้ม อยู่ระหว่างรอการตัดสินของศาลอยู่ แต่หากมีการประมูลได้ โครงการนี้จะใช้เงินลงทุนสูง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ธ.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top