ภาคเอกชน ระดมสมองเสนอแนะทางรอดธุรกิจไทยฝ่าวิกฤตหลังเปิดประเทศ

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ “ผ่าทางรอด ธุรกิจไทย หลังเปิดประเทศ” ว่า แนวทางรอดของธุรกิจไทย คือ เพิ่ม 4 อย่าง ลด 4 อย่าง ได้แก่ เพิ่มสัดส่วนการส่งออกโดยการเชื่อมตลาดให้เอสเอ็มอี, เพิ่มการบริโภคภาครัฐด้วยการเพิ่มสัดส่วนสินค้าจากเอสเอ็มอีไม่น้อยกว่า 50%, เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในประเทศ, เพิ่มการบริโภคภายในประเทศ และลดปัญหาหนี้ทุกรูปแบบ, ลดค่าครองชีพ ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง ค่าเดินทาง ค่าอินเตอร์เน็ต, ลดการว่างงาน ลดการนำเข้าด้วยการพึ่งพาตัวเอง เพราะเมื่อเข้าไปดูในรายละเอียดของภาวะการค้าต่างประเทศของเอสเอ็มอีในปีนี้แล้วจะพบว่าอยู่ในภาวะขาดดุลการค้า เนื่องจากมีต้นทุนการนำเข้าที่สูงกว่าการส่งออก ซึ่งจะต้องมีแก้ไขด้วยการลดพึ่งพาการนำเข้า

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้ต้องมีการบริหารจัดการที่คล่องตัวเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันเวลา โดยต้องยอมรับว่าประเทศเพื่อนบ้านมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขที่จูงใจนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น และต้องเร่งเรื่องการเจรจาข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้าให้มากขึ้น การกระตุ้นให้ภาคเอกชนไปลงทุนในต่างประเทศ ทั้งนี้ภาครัฐและเอกชนควรทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม คนรุ่นใหญ่และคนรุ่นใหม่จับมือกันจะทำให้การพัฒนาไปได้ไวกว่านี้

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ยังไม่มีผลในทางลบต่อการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว การตรวจพบผู้ติดเชื้อดังกล่าวมาจากมาตรการคัดกรองของระบบสาธารณสุข ขณะที่ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการรุนแรง และเสียชีวิต จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงเกิดจากการแพร่ระบาดในประเทศต้นทาง

ในปี 65 ตั้งเป้าให้อัตราการเติบโตของการท่องเที่ยวกลับมาอยู่ในระดับ 50% ของปี 62 และในปี 66 เพิ่มเป็น 80% ของปี 62 ผู้ประกอบการสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้แล้ว 67% และมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแล้ว 60% แต่ในอนาคตจะต้องเน้นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูง เพราะปริมาณนักท่องเที่ยวคงไม่กลับมามีจำนวนเท่าเดิม ดังนั้นจึงต้องทำตลาดให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มประเทศที่มีความมั่งคั่ง, กลุ่มสุขภาพ โดยถอดบทเรียนในอดีตมาเป็นแนวทางพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนและสร้างมูลค่าเพิ่ม

ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผลกระทบจากสายพันธุ์โอมิครอนคงต้องรอดูอีกสักระยะ โดยมีพัฒนาการในเรื่องยาและวัคซีนอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นรู้เพียงแค่ระบาดรวดเร็ว แต่ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการรุนแรง

วิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกเรื่อง ซึ่งส่งผลให้ต้องมีการปรับตัวเพื่อสามารถดำรงอยู่ได้ และมีการพูดถึงแนวทางที่จะทำให้โลกสะอาดมากขึ้น

สำหรับแนวทางที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศนั้น ส่วนหนึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของวีซ่าให้มีระยะเวลาที่เหมาะสมกับชาวต่างชาติที่จะเข้ามาทำงาน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในไตรมาสแรกของปี 65, สิทธิการถือครองอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ทิศทางการลงทุนในอนาคตกำลังจะมีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม เช่น การลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า การผลิตพลังงานที่มีความสะอาด โดยยกเลิกผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและน้ำมันเชื้อเพลิง การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต

นายณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า สิ่งสำคัญต้องไม่ประมาท เพราะยังไม่มีท่าทีที่ปัญหาจะหมดไป ซึ่งที่ผ่านมาเราสามารถดำเนินการได้ดีมาต่อเนื่อง ไม่อยากฝากความหวังไว้กับการผลิตยาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และควรเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน

วิกฤตโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายหลายอย่าง ทั้งแนวทางการดำเนินชีวิต แนวทางการดำเนินธุรกิจ แนวทางการลงทุน ฯลฯ ทำให้ต้องกลับมาทบทวนว่าเครื่องมือที่มีอยู่เดิมยังมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ เช่น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของบางจังหวัดใช้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ทำให้ได้รับผลกระทบหนักมาก ที่สำคัญคือเรื่องการพัฒนาทุนมนุษย์ และควรนำความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ในเรื่องที่ตั้งมาใช้ประโยชน์ช่วยผลักดันการพัฒนา และการความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจะทำให้เกิดอาชีพใหม่ๆ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ธ.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top