ยูเอ็นชี้วิกฤตโควิดกระทบเป้าพัฒนายั่งยืนของไทยฉุด GDP ปี 68 วูบ 5%

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทย เปิดเผยรายงานเบื้องต้นของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ชี้ให้เห็นว่าการระบาดของโควิด-19 อาจส่งผลให้ผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยในปี 68 หดตัวลง 5% เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ

พร้อมทั้งประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 จะทำให้อัตราการว่างงานในกลุ่มผู้หญิงสูงถึง 4.5% ขณะที่อัตราการว่างงานโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.1% สำหรับทั้งปี 63 ขณะที่ในระหว่างปีการว่างงานจะเพิ่มสูงกว่านี้ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานนอกระบบ

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์และการท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างรุนแรง ขณะที่ผลิตผลทางการเกษตรจะได้รับความเสียหายเพิ่มเติมจากการระบาดของไวรัส นอกเหนือจากที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ส่วนภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การดูแลสุขภาพ สินค้าอุปโภคบริโภค และบริการทางการเงิน ได้รับผลกระทบน้อยกว่า และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วได้ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ได้ในระดับหนึ่ง

นางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 อาจกระทบต่อความพยายามของประเทศไทยที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และส่งผลลบต่อความก้าวหน้าในการดำเนินการตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา

“ความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากเกือบครึ่งของตลาดแรงงานได้รับผลกระทบรุนแรงอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าทั้งผู้หญิงและผู้ชายได้รับผลกระทบเท่าๆกัน แต่ผู้หญิงมีความเสี่ยงสูงกว่าทั้งทางสังคมและทางเศรษฐกิจ” นางซับบระวาล กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจะบรรเทาลงได้ด้วยการมุ่งเน้นไปที่นโยบายที่ส่งผลต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม การฟื้นตัวอย่างยั่งยืนต้องอาศัยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องสู่เป้าหมายเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสร้างงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สหประชาชาติยังคงให้การสนับสนุนประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านสู่ความปกติใหม่

รายงานของสหประชาชาติได้ตระหนักถึงการดำเนินนโยบายที่รวดเร็วของรัฐบาลเพื่อสกัดกั้นและลดผลกระทบของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันคิดเป็น 15% ของจีดีพีและมีสัดส่วนใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ นั้นยังคงต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติม โดยเฉพาะการปรับมาตรการต่างๆ ในแผนเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ รายงานได้นำเสนอว่าการใช้จ่ายของภาครัฐ เป็นมาตรการที่ส่งผลมากที่สุดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการจ้างงาน ตามด้วยการมอบเงินสนับสนุนโดยตรงให้แก่ผู้ที่เดือดร้อนมากที่สุด และการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ สภาพคล่อง การลดภาษี และการเลื่อนชำระภาษีสำหรับผู้ประกอบการ ตลอดจนการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย

ขณะที่ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาว การประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ซึ่ง สศช. ได้ดำเนินการอย่างรวดเร็วโดยการสำรวจและวิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้น

ดังนั้น จึงสนับสนุนการทำงานของยูเอ็นในฐานะหุ้นส่วนในการประเมินผลในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการออกมาตรการและขับเคลื่อนนโยบายเพื่อให้ประเทศไทยฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน

ด้าน นายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า โควิด-19 มีผลกระทบต่อประชากรที่มีความเปราะบางมากที่สุด และยิ่งเน้นย้ำความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคม โดยกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้พิการ กลุ่ม LGBTI และสมาชิกชาติพันธุ์ต่างๆ กำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง นอกจากนี้ กลุ่มผู้หญิงจะมีความเสี่ยงสูงต่อการว่างงาน เพราะบางส่วนอยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่กระทบหนักที่สุด เช่น การท่องเที่ยว

ขณะที่แรงงานนอกระบบซึ่งมีจำนวนมากกว่าครึ่งของภาคแรงงานก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นกัน เนื่องจากกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ในประกันสังคม และไม่สามารถได้รับสิทธิ์ต่างๆในสถานที่ทำงาน เช่น เงินอุดหนุนช่วยเหลือค่าจ้าง การลากิจ หรือ ลาป่วย ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ต้องการมาตรการเยียวยาที่ตรงเป้าหมาย

ส่วนนายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ครอบครัวที่มีความเปราะบางต้องได้รับความสนใจเป็นพิเศษในช่วงการฟื้นตัว ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ การให้ความช่วยเหลือโดยตรงกับครอบครัวกลุ่มเปราะบางและแรงงานนอกระบบเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กับการช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดและประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นนโยบายที่ออกมาควรมีมาตรการที่เล็งผลระยะยาว เพื่อเสริมสร้างระบบการคุ้มครองทางสังคม โดยไม่มีใครต้องคอยกังวลว่าสิ้นเดือนจะพอกินหรือไม่

นายดาวิน กล่าวว่า ควรมีการลงทุนเพิ่มเติมในทรัพยากรมนุษย์เพื่อยกระดับทักษะแรงงาน โดยเริ่มจากเยาวชน ซึ่งสิ่งนี้จะปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จของเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติประเทศไทย ร่วมกับ สศช.จะเผยแพร่ผลการศึกษาเพิ่มเติมในเดือน ก.ค.63 ซึ่งจะมีการวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับผลกระทบทางสังคมของวิกฤตโควิด 19 ที่มีต่อความยากจน อาหารและภาวะโภชนาการ สุขภาพ การศึกษา การคุ้มครองทางสังคม และการป้องกันความรุนแรงและการละเมิด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มิ.ย. 63)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top