พาราเมาท์ยอมความกับทรัมป์ จ่าย 16 ล้านดอลล์ยุติคดีสัมภาษณ์รายการ “60 Minutes”

บริษัทพาราเมาท์ (Paramount) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส (CBS) ได้บรรลุข้อตกลงยอมความในวันนี้ (2 ก.ค.) ในคดีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เป็นผู้ยื่นฟ้องกรณีการให้สัมภาษณ์ที่ออกอากาศไปเมื่อเดือนต.ค. นับเป็นกรณีล่าสุดที่บริษัทสื่อยอมอ่อนข้อต่อปธน.ทรัมป์ ผู้ซึ่งมักโจมตีสื่อต่าง ๆ โดยมักจะเรียกการรายงานข่าวที่ไม่เป็นคุณต่อตนเองว่าเป็น “ข่าวปลอม” (fake news)

พาราเมาท์ระบุว่าจะจ่ายเงินจำนวน 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อยุติคดี โดยเงินจำนวนดังกล่าวจะถูกจัดสรรให้กับหอสมุดประธานาธิบดีของทรัมป์ที่จะจัดตั้งขึ้นในอนาคต และจะไม่มีการจ่ายเงินให้แก่ทรัมป์ “ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม”

แถลงการณ์ของบริษัทยังเสริมด้วยว่า “ข้อตกลงยอมความนี้มิได้รวมถึงการแถลงขอโทษหรือแสดงความเสียใจแต่อย่างใด”

ชนวนเหตุของคดีนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนต.ค. ปีที่แล้ว เมื่อทรัมป์ยื่นฟ้อง CBS เป็นมูลค่ามหาศาลถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกล่าวหาว่า รายการข่าว “60 Minutes” ได้ตัดต่อบทสัมภาษณ์ของคามาลา แฮร์ริส (ขณะดำรงตำแหน่งรองปธน.) อย่างมีเจตนาหลอกลวง เพื่อโน้มน้าวให้พรรคเดโมแครตได้เปรียบในการเลือกตั้ง ก่อนที่ในเดือนก.พ. จะมีการแก้ไขคำฟ้องเพิ่มวงเงินเรียกค่าเสียหายขึ้นเป็น 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

คำฟ้องซึ่งยื่นต่อศาลรัฐบาลกลางในรัฐเท็กซัสระบุว่า CBS ได้ออกอากาศบทสัมภาษณ์ของแฮร์ริสถึง 2 รูปแบบ ซึ่งดูเหมือนว่าแฮร์ริสจะให้คำตอบที่แตกต่างกันสำหรับคำถามเดียวกันเกี่ยวกับสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส

แม้ CBS เคยโต้กลับในตอนแรกว่าข้อกล่าวหา “ไร้มูลความจริงโดยสิ้นเชิง” และได้ยื่นคำร้องให้ศาลยกฟ้อง แต่สุดท้ายคดีนี้ก็ได้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา

การยอมความครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่บริษัทกำลังเดินหน้าแผนควบรวมกิจการมูลค่า 8.4 พันล้านดอลลาร์กับสกายแดนซ์ มีเดีย (Skydance Media) ซึ่งต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารแห่งสหรัฐฯ (FCC) การต่อสู้ทางกฎหมายที่ยืดเยื้อกับบุคคลที่ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย จึงเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจ โดยเฉพาะเมื่อทรัมป์เคยขู่ว่าจะเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของ CBS หากเขาชนะเลือกตั้ง

ทรัมป์กล่าวหาว่า การตัดต่อบทสัมภาษณ์ของ CBS นั้นละเมิดรัฐบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคจากการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมแห่งรัฐเท็กซัส (Texas Deceptive Trade Practices-Consumer Protection Act) ซึ่งบัญญัติว่า การกระทำการใด ๆ ที่เป็นเท็จ หลอกลวง หรือทำให้เข้าใจผิดในทางการค้า ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ กลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิสื่อมวลชนแสดงความเห็นว่า การที่ทรัมป์นำกฎหมายประเภทนี้มาใช้ฟ้องร้องสื่อในรูปแบบใหม่ ถือเป็นความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงเกราะคุ้มกันทางกฎหมายของสื่อมวลชน เพราะโดยปกติแล้ว การจะเอาผิดสื่อฐานหมิ่นประมาทบุคคลสาธารณะให้ได้นั้น จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าสื่อจงใจเสนอความเท็จ และสื่อรู้หรือควรจะรู้ว่าเป็นเท็จ แต่ก็ยังรายงานออกไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ค. 68)