เขย่าต่อ! “หมอตุลย์” ยื่นปธ.วุฒิฯ เสนอชงศาล รธน.ถอดถอน “แพทองธาร” พ้น รมว.วัฒนธรรม

นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ายื่นหนังสือต่อ นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยถอดถอน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ออกจากตำแหน่ง รมว.วัฒนธรรม เนื่องจากขาดคุณสมบัติไม่สามารถดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้

“ขอเสนอให้ สว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ร่วมกันลงชื่อให้ประธานวุฒิสภายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ของ น.ส.แพทองธาร สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา160 (4) และ (5) หรือไม่ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้ น.ส.แพทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง รมว.วัฒนธรรมไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย” นพ.ตุลย์ ระบุ

ก่อนหน้านี้ ศาลรับธรรมนูญรับคำร้องของ 36 สว.ที่ขอให้วินิจฉัยถอดถอน น.ส.แพทองธาร จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยกล่าวหาว่าขาดคุณสมบัติ กรณีไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และสั่งให้ น.ส.แพทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

นพ.ตุลย์ กล่าวว่า ก่อนมีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญออกมาให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ น.ส.แพทองธาร ยังเสนอชื่อตัวเองขึ้นทูลเกล้าฯ ทั้งที่อาจจะถูกข้อกล่าวหาทั้งการผิดจริยธรรมและความไม่ซื่อสัตย์สุจริต จนคนให้ทำประเทศตั้งข้อสงสัยว่าอย่างนี้แล้วจะสามารถดำรงตำแหน่ง รมว.วัฒนธรรม ได้อย่างไร

“บัดนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง น.ส.แพทองธาร เป็น รมว.วัฒนธรรม จึงเป็นกรณีที่ต้องวินิจฉัยว่า น.ส.แพทองธาร ขาดคุณสมบัติการเป็น รมว.วัฒนธรรม และไม่สามารถดำรงตำแหน่งหรือไม่” นพ.ตุลย์ ระบุ

โดยยืนยันว่า กระบวนการนี้ทำในนามส่วนตัว ไม่ใช่ในนามของ “กลุ่มรวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตย” แต่อย่างใด

“หากมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากแคนดิเดทพรรคเพื่อไทยตามเดิม ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามวิถีทาง แต่บังเอิญว่า พรรคฝ่ายค้านหรือพรรคประชาชน ไม่ได้อยู่ในลิสต์แล้ว เพราะเสนอมาเพียงชื่อเดียว แต่หากสุดท้ายเป็นเหมือนกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เมื่อบริหารราชการไปแล้วมีปัญหา ประชาชนก็จะใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ” นพ.ตุลย์ กล่าว

ส่วนกรณีที่พรรคฝ่ายค้านออกมาพูดถึง “นิติสงคราม” นั้น นพ.ตุลย์ มองว่า นิติสงคราม เป็นเครื่องมือของภาคประชาชน ที่จะดำเนินการกับนักการเมืองที่ทำไม่ถูกต้อง ดังนั้น หากรัฐบาลหรือนักการเมืองที่ทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง ก็ไม่ต้องกลัวการทำนิติสงคราม

“หากนักการเมือง หรือรัฐบาลทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง ก็ไม่ต้องกลัวนิติสงครามใด ๆ ไม่มีอะไรระคายผิวคุณได้ ถึงจะยื่นไปศาล ไป ป.ป.ช. กกต. เขาก็ไม่ลงโทษคุณ เพราะฉะนั้นกรุณาอย่าห่วงเรื่องนิติสงคราม กรุณาทำหน้าที่ตามที่ได้อาสาเข้ามารับใช้ประเทศชาติ และประชาชนอย่างแท้จริง ตามที่คุณกล่าวอ้างตอนหาเสียง การที่ประชาชนจะใช้นิติสงครามได้ มีอยู่กรณีเดียว คือคุณทำหน้าที่ไม่ถูกต้องอย่างร้ายแรง” นพ.ตุลย์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ค. 68)