กทม.ออกกฎใหม่ คุมแสงสว่างป้ายโฆษณา LED ลดปัญหารบกวนสายตา

ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) มีมติเห็นชอบรับหลักการ ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับการกำหนดค่าแสงสว่างจากป้ายที่ใช้ระบบไฟฟ้า และมีแสงสว่างในตัวเอง (ป้าย LED) เพื่อควบคุมแสงสว่างให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ไม่รบกวนสายตาประชาชน และผู้ขับขี่ยานพาหนะบนทางด่วน ท้องถนน หรือสถานที่ทั่วไป

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เสนอญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดค่าแสงสว่างที่ออกจากป้ายที่ใช้ระบบไฟฟ้า และมีแสงสว่างในตัวเอง ตามข้อ 17 ของกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมป้าย หรือสิ่งที่สร้างขึ้น สำหรับติดหรือตั้งป้ายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2568 พ.ศ. … ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 1)

โดยผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า เนื่องจากปัญหาป้ายโฆษณา LED บนทางด่วน ตามสถานที่ต่าง ๆ มีแสงสว่างมากเกินไป จนรบกวนประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งตามกฎหมายไม่ได้มีการระบุชัดเจนว่าแสงเท่าไร จึงจะถือว่าเป็นการรบกวน แต่เป็นเพียงการกำหนดให้แค่ไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญ ซึ่งยังไม่มีการวัดในทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน ว่าป้ายไหน สร้างหรือไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญ

ดังนั้น กทม. จึงเสนอร่างข้อบัญญัติฯ เพื่อให้มีการกำหนดกฏเกณฑ์ให้ชัดเจน ว่าป้ายโฆษณาจะต้องมีแสงสว่างเท่าไร เพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้ที่อาศัยบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ขับขี่รถสัญจรไปมา ให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และจะได้จัดทำให้เป็นมาตรฐานต่อไป

“ป้ายที่มีอยู่ตอนนี้ สร้างความเดือดร้อนรำคาญ แต่ไม่รู้ว่าใครถูก ใครผิด ก็อยากทำให้เป็นมาตรฐาน เอกชนก็จะได้ไม่ลงทุนเกินไป ประชาชนก็จะได้รับการป้องกัน” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

ทั้งนี้ กทม. ได้จัดทำร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดค่าแสงสว่างที่ออกจากป้ายที่ใช้ระบบไฟฟ้า และมีแสงสว่างในตัวเอง ตามข้อ 17 ของกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมป้าย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย

โดยมีรายละเอียดของค่าแสงสว่างที่ออกจากป้าย ดังนี้

1. ช่วงเวลาตั้งแต่ 07.00 น. ถึงก่อนเวลา 19.00 น. ต้องมีค่าแสงสว่างที่ออกจากป้ายสูงสุดไม่เกิน 5,000 แคนเดลา/ตารางเมตร

2. ช่วงเวลาตั้งแต่ 19.00 น. ถึงก่อนเวลา 07.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ต้องมีค่าแสงสว่างที่ออกจากป้ายสูงสุดไม่เกิน 500 แคนเดลา/ตารางเมตร

ส่วนป้ายที่มีค่าแสงสว่างนอกจากที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าแสงสว่างของป้ายนั้น ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญต่อบริเวณข้างเคียง หรือรบกวนการมองเห็นสภาพการจราจรของผู้ขับขี่ยานพาหนะ จนอาจส่งผลต่อการควบคุมหรือขับขี่ยานพาหนะ

ทั้งนี้ ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบรับการร่างข้อบัญญัติฯ ดังกล่าว และตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯ กำหนดแปรญัตติใน 5 วัน และพิจารณาภายใน 60 วัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ค. 68)