
คณะกรรมการบริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย ประจำปี 2568-2570 ภายใต้การบริหารของนายสมพร สืบถวิลกุล ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 2 และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ประกาศแผนยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยไทย มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจประกันวินาศภัยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี โดยเน้นการยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมในทุกมิติ เดินหน้าผนึกแผนการทำงานร่วมกับคณะกรรมการประกันภัยสาขาต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม
นายสมพร กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ได้ร่วมกันกำหนดกรอบและทิศทางสำหรับยุทธศาสตร์สมาคมฯ โดยยังคงมีเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ธุรกิจประกันวินาศภัยเป็นเสาหลักของระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน ยึดนโยบายในการทำหน้าที่เป็นผู้บริหารความเสี่ยงมืออาชีพให้กับภาครัฐ และภาคเอกชน เน้นความเป็นมืออาชีพ สร้างมาตรฐานการปฏิบัติงาน เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใส ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือสังคมในมิติต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจประกันวินาศภัยไทยไปสู่การเติบโตอย่างอย่างมั่นคง และเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและสังคม สอดรับกับแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2568-2573) ของสำนักงาน คปภ. ซึ่งมุ่งเน้นพันธกิจหลักที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่
พันธกิจที่ 1: เสริมสร้างความเชื่อมั่น และยกระดับขีดความสามารถของธุรกิจประกันวินาศภัย รวมถึงส่งเสริมการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม พัฒนาและเผยแพร่ข้อมูลความรู้ด้านประกันภัย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนและสังคม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการสื่อสารเชิงรุกผ่าน Digital Technology เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงข้อมูลประกันภัยอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสร้างมาตรฐานการให้บริการของภาคธุรกิจ เพื่อยกระดับและความไว้วางใจในระบบประกันภัย พร้อมเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ประกันภัย และการตลาดเชิงรุก ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) เพื่อสร้างคุณค่าร่วมและผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
พันธกิจที่ 2: ส่งเสริม และสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยี พร้อมเสริมสร้างบทบาทในฐานะผู้บริหารความเสี่ยงมืออาชีพให้กับภาครัฐและเอกชน ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น InsurTech และ Big Data มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงในทุกมิติ รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ที่ตอบสนองต่อความเสี่ยงอุบัติใหม่ เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความเสี่ยงทางไซเบอร์ และความท้าทายในเศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้เหมาะสมกับความต้องการของประชาชนในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ยังเน้นการส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการพัฒนานวัตกรรมในด้านประกันวินาศภัย เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งผลักดันให้ภาครัฐบูรณาการการประกันภัยเข้าไว้ในแผนยุทธศาสตร์ของชาติ เพื่อใช้ในการบริหารความเสี่ยงทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ
พันธกิจที่ 3: ผลักดันนโยบาย กฎระเบียบ และโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัย การทบทวนและผลักดันการปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ (Regulatory Guillotine) พร้อมทั้งเสนอการออกกฎระเบียบใหม่ที่เอื้อต่อการเติบโตและการขยายตัวของธุรกิจประกันวินาศภัย นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการจัดตั้ง Regulatory Sandbox ที่สนับสนุนการทดลองและพัฒนานวัตกรรมด้านประกันภัยอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านการลงทุนของบริษัทประกันภัยให้มีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ รวมถึงการส่งเสริมให้ธุรกิจสามารถขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมั่นคง และสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลของอุตสาหกรรม เช่น ระบบฐานข้อมูลกลาง (Centralized Data System) เพื่อยกระดับศักยภาพในการวิเคราะห์ข้อมูล และการกำกับดูแลที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
พันธกิจที่ 4: เสริมสร้างระบบนิเวศประกันภัยที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ ส่งเสริมการสร้างและพัฒนาบุคลากรเข้าสู่ธุรกิจประกันวินาศภัย โดยเน้นการยกระดับมาตรฐานความรู้ของบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญและเป็นเลิศ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งพัฒนาความร่วมมือระหว่างบริษัทประกันภัยในด้านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การสร้างเครือข่าย และการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันในระดับองค์กร นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการเสริมสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการสนับสนุนซึ่งกันและกันในเชิงนโยบายและการกำกับดูแล พร้อมทั้งขยายความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานและแนวปฏิบัติของอุตสาหกรรมไทยให้เทียบเท่าสากล
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าทั้ง 4 พันธกิจในแผนยุทธศาสตร์นี้ ทำหน้าที่ร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยไทยให้เป็นกลไกสำคัญของความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการบริหารความเสี่ยงระดับประเทศ โดยสมาคมฯ เป็น “ศูนย์กลาง” ที่ผสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่เพียงเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อสร้างระบบประกันภัยไทยที่ประชาชนเชื่อมั่น ภาครัฐพึ่งพาได้ และเศรษฐกิจไทยเข้มแข็งและยั่งยืนไปพร้อม ๆ กัน
นายสมพร กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจและภาพรวมของธุรกิจประกันวินาศภัยไตรมาสแรกของปี 2568 ว่าภาพรวมเศรษฐกิจของไทยจากการประเมินของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ขยายตัว 3.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคการส่งออกสินค้าและบริการซึ่งขยายตัว 13.8% และการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัว26.3% ส่วนการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง โดยขยายตัวเพียง 2.6% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัว -0.9% สะท้อนถึงแรงกดดันในภาคเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งนี้ สภาพัฒน์ฯ ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2568 เหลืออยู่ในช่วง 1.3% ถึง 2.3% จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา
ขณะที่ภาพรวมธุรกิจประกันวินาศภัย มีมูลค่าเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทั้งสิ้น 75,269 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 3.81% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยประกันภัยรถยนต์ มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง 42,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.36% ประกันอัคคีภัย 2,509 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.83% ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง 1,668 ล้านบาท ลดลง 4.91% ประกันภัยเบ็ดเตล็ด 29,088 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.01% แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคธุรกิจประกันวินาศภัยไทย โดยเฉพาะในกลุ่มประกันภัยเบ็ดเตล็ดและประกันอัคคีภัยที่มีอัตราการเติบโตโดดเด่น สะท้อนความต้องการความคุ้มครองที่เพิ่มขึ้นในบางกลุ่มความเสี่ยง
แม้ประกันภัยทางทะเลและขนส่งจะมีการหดตัวเล็กน้อย สะท้อนถึงภาวะชะลอตัวในบางภาคส่วนของการค้าระหว่างประเทศ แต่ภาพรวมของธุรกิจยังคงเติบโตในทิศทางบวก และชี้ให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของตลาดโดยรวม หากแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไปในไตรมาสถัด ๆ ไป ก็มีแนวโน้มสูงที่อุตสาหกรรมประกันวินาศภัยในปี 2568 จะสามารถเติบโตได้ใกล้เคียงกับระดับที่คาดการณ์ไว้ทั้งปี
ทั้งนี้ จากข้อมูลเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 75,269 ล้านบาท มีสัดส่วนเบี้ยประกันภัย แบ่งเป็น ประกันภัยรถยนต์ (Motor Insurance) คิดเป็นสัดส่วน 55.8% ของเบี้ยประกันภัยรวม หรือ 42,004 ล้านบาท ประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ (Non-Motor Insurance) คิดเป็นสัดส่วน 44.2% หรือ 33,265 ล้านบาท สะท้อนถึงการตื่นตัวในด้านการบริหารความเสี่ยงของภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะในหมวดหมู่ประกันอัคคีภัย ประกันภัยเบ็ดเตล็ด และประกันภัยสุขภาพ
สำหรับแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัย ปี 2568 ทั้งปี จากการวิเคราะห์ภาพรวมของธุรกิจประกันวินาศภัย โดยบริษัท ไทยอินชัวรันส์ รีเสิร์ช แอนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (Thai Insurance Research & Development Co., Ltd. TIRD) คาดว่าธุรกิจประกันวินาศภัยจะเติบโตในอัตรา 1.5% ถึง 2.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีมูลค่าเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมอยู่ในช่วงประมาณ 291,000-294,000 ล้านบาท
การเติบโตดังกล่าวสะท้อนถึงความท้าทายในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงการปรับตัวของภาคธุรกิจประกันภัยต่อสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านความเสี่ยงใหม่ เทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภค ทั้งนี้ธุรกิจประกันวินาศภัยยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัว การดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจในระยะยาว การติดตามข้อมูลเชิงลึกอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการวางกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับบริบทใหม่ จะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจประกันวินาศภัยให้เติบโตอย่างมั่นคงในปี 2568 และในอนาคตต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ค. 68)