ถอดรหัส…กฎหมายทันเหตุการณ์: หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเครื่องมือปกป้องผลประโยชน์ทางการค้ายุค Trump Tariffs

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองโลกที่ผันผวน นำมาสู่บริบทของ “มาตรการปกป้องทางการค้า” อย่างเข้มข้นอีกครั้ง โดยเฉพาะภายใต้แนวนโยบายประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกาที่ดำเนินมาตรการ “Trump Tariffs” อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตราสูง ตลอดจนการใช้อำนาจตามกฎหมายเศรษฐกิจฉุกเฉิน (IEEPA) เพื่อบังคับใช้ภาษีเชิงตอบโต้ต่อประเทศที่สหรัฐเห็นว่าเอาเปรียบทางการค้า

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 เวียดนามเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่บรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐ โดยยอมรับอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 20 สำหรับสินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐ และยกเลิกภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าจากสหรัฐอย่างสมบูรณ์ ทั้งยังมีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า หากพบว่าสินค้าจากประเทศที่อยู่ภายใต้มาตรการภาษี (เช่น จีน) ถูกส่งผ่านเวียดนามก่อนเข้าสู่สหรัฐฯ (Transshipment) จะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้นถึงร้อยละ 40

ข้อตกลงดังกล่าวมีผลในทางปฏิบัติคือการ “กดดันทางอ้อม” ต่อห่วงโซ่อุปทานที่มีความเชื่อมโยงกับจีน และถูกมองว่าเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การจำกัดอิทธิพลทางการค้าของจีนโดยผ่านเวียดนาม

สถานการณ์นี้ส่งผลให้ภาคเอกชนไทยเกิดความกังวลว่าหากการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ไม่สามารถรักษาระดับภาษีที่ใกล้เคียงกับเวียดนามไว้ได้ ไทยอาจตกอยู่ในสถานะเสียเปรียบทางการแข่งขัน ทั้งในเชิงต้นทุนและความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร อาหารแปรรูป และสิ่งทอ ซึ่งต้นทุนการผลิตในไทยยังค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับเวียดนามที่มีต้นทุนพลังงานและค่าแรงต่ำกว่า อีกทั้งมีระบบการตัดสินใจภาครัฐที่รวดเร็วกว่า

นโยบายภาษีของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลทรัมป์ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานในระดับโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกก็จะได้รับผลกระทบ หากไม่สามารถแสดงหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่าสินค้าของไทยมีถิ่นกำเนิดตามเกณฑ์ที่กำหนด และไม่ได้มีต้นทางจากประเทศที่ตกอยู่ภายใต้มาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะในบริบทที่การ “ส่งผ่านสินค้า” กลายเป็นประเด็นที่ถูกจับตามอง

*บทบาทของหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หรือ Certificate of Origin (C/O)

หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) เป็นเอกสารทางการค้าที่ออกโดยหน่วยงานรัฐ เพื่อรับรองว่าสินค้าที่ส่งออกมีแหล่งกำเนิดในประเทศใด โดยมีผลผูกพันในเชิงภาษีศุลกากร ทั้งในแง่การรับสิทธิพิเศษทางภาษี หรือการหลีกเลี่ยงมาตรการตอบโต้ทางการค้า (Trade Remedies)

ในบริบทของนโยบายภาษีแบบเลือกปฏิบัติ เช่น Trump Tariffs การมี C/O ที่ชัดเจนและตรวจสอบได้ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญของภาคเอกชนไทยในการยืนยันถิ่นกำเนิด และขอรับการยกเว้นจากอัตราภาษีนำเข้าที่สูงผิดปกติ

 

*กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) และรูปแบบของ C/O

ในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า สินค้าจะต้องเป็นไปตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิด ซึ่งอาจใช้เกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งหรือหลายเกณฑ์ร่วมกัน ได้แก่:

• Wholly Obtained (WO): สินค้าที่ผลิตขึ้นโดยใช้วัตถุดิบที่เกิดขึ้นภายในประเทศทั้งหมด

• Change in Tariff Classification (CTC): สินค้าผ่านการแปรสภาพจนมีการเปลี่ยนพิกัดอัตราศุลกากรในระดับที่กำหนด เช่น เปลี่ยนจากวัตถุดิบหมวดหนึ่งไปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปอีกหมวดหนึ่ง

• Regional Value Content (RVC): มีการสร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของราคาส่งออกหรือราคาที่โรงงาน (Ex-Factory Price) โดยวิธีการคำนวณอาจแตกต่างกันตามข้อตกลงการค้าเสรีที่ใช้

• Specific Process: สินค้าได้ผ่านกระบวนการผลิตเฉพาะที่ระบุไว้ในข้อตกลง เช่น การถักทอ การรีดเหล็ก หรือการผลิตยา ซึ่งไม่สามารถได้มาด้วยการประกอบเพียงเล็กน้อย

การยื่นขอ C/O อย่างถูกต้องตามกฎถิ่นกำเนิด จึงมีความสำคัญยิ่งในการแสดงว่าสินค้านั้นไม่ใช่ “สินค้าจีนแฝงตัว” และสามารถขอรับสิทธิยกเว้นหรือผ่อนปรนภาษีตามที่ตกลงไว้กับประเทศผู้นำเข้าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

 

*การเตรียมพร้อมเชิงระบบและข้อเสนอเชิงนโยบาย

ในสถานการณ์ปัจจุบัน การส่งเสริมการใช้ C/O ที่ถูกต้องและตรวจสอบได้จึงควรได้รับความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในมิติของการกำกับดูแล การอบรมผู้ประกอบการ และการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐให้มีความคล่องตัว รองรับการออกเอกสารแบบ Real-Time โดยเฉพาะภายใต้ระบบ ASW (ASEAN Single Window) ที่มีบทบาทสำคัญในการยกระดับความน่าเชื่อถือของ C/O ไทยในระดับภูมิภาค

ภาครัฐควรใช้โอกาสนี้ในการทบทวนบทบาทของ “C/O” ไม่ให้เป็นเพียงเครื่องมือทางธุรการ แต่เป็นกลไกเชิงยุทธศาสตร์ทางกฎหมายในการเจรจาการค้า และการวางตำแหน่งของไทยในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก โดยอาจดำเนินการในประเด็นสำคัญ เช่น (1) พัฒนามาตรฐานการตรวจสอบย้อนกลับของถิ่นกำเนิดสินค้า (2) สนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถใช้ระบบดิจิทัลในการออก C/O อย่างถูกต้อง (3) ประสานงานเชิงรุกกับสหรัฐฯ เพื่อยืนยันความโปร่งใสของระบบ C/O ไทย และ (4) พิจารณาแนวทางทางกฎหมายในระดับทวิภาคี เพื่อป้องกันผลกระทบจากการบังคับใช้กฎ Transshipment

ในยุคที่กฎหมายการค้าโลกผสมผสานเข้ากับการเมืองระหว่างประเทศอย่างแนบแน่น หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) จึงไม่ใช่เพียงเอกสารประกอบการส่งออก หากแต่เป็น “หลักฐานทางกฎหมาย” ที่ใช้ต่อรองเพื่อรักษาความได้เปรียบของประเทศในเวทีการค้า และในสถานการณ์ปัจจุบันที่การส่งผ่านสินค้าอาจกลายเป็นเครื่องหมายคำถามในสายตาของสหรัฐ ยิ่งตอกย้ำว่า ความถูกต้อง ครบถ้วน และโปร่งใสของ C/O จะเป็นเกราะป้องกันที่ทรงพลังที่สุดของผู้ประกอบการไทย

ดุษดี ดุษฎีพาณิชย์

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการค้า การลงทุน และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 68)