KKP มองสหรัฐบีบไทยเปิดตลาดสินค้าอ่อนไหวทั้งเกษตร-เนื้อสัตว์ทำรัฐบาลเผชิญแรงกดดันในประเทศ

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ประเมินว่า หากไทยถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้จากสหรัฐในอัตรา 36% จากเดิม 10% จะกระทบอัตราเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ประมาณ 0.4-0.5% ซึ่งเป็นการคาดการณ์ที่คาดว่าจะถูกเรียกเก็บภาษีระดับดังกล่าวตลอดทั้งปี แต่หากอัตราภาษีใหม่ถูกบังคับใช้ 1 ส.ค.จะกระทบ GDP ปี 68 ราว 0.2% หรือเติบโตลดเหลือ 1.4% จากก่อนหน้านี้ KKP ประเมินไว้ที่ 1.6%

อย่างไรก็ตาม หากดูข้อเสนอของเวียดนามที่ได้มีข้อตกลงกับสหรัฐไปแล้ว ค่อนข้างจะสุดโต่งโดยเปิดตลาดสินค้าทุกรายการ แต่หากย้อนดูไทย อ้างอิงจากรายงาน USTR ปี 68 สหรัฐส่งสัญญาณว่าไทยมีประเด็นกีดกันทางการค้าทั้งในแง่ของภาษีนำเข้าที่เก็บสูงกว่าสหรัฐ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเกษตร และเนื้อสัตว์ก็มีประเด็นแบนการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐ นอกจากนี้ ยังมีค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งวันนี้ดูเหมือนว่ากลุ่มที่จะอ่อนไหวกับสหรัฐ คือการเกษตร โดยเฉพาะสินค้าอย่างข้าวโพด ถั่วเหลือง และเนื้อสัตว์

“สหรัฐฯ กำลังบังคับให้เราแลกเปลี่ยนระหว่างภาคอุตสาหกรรมการส่งออก การลงทุน กับภาคการเกษตรที่ค่อนข้าง Sensitive กับไทย แม้ภาคการเกษตรจะมีสัดส่วนต่อ GDP น้อยมากประมาณ 8% แต่การจ้างงานของภาคเกษตรเป็น 30% ของภาคแรงงาน ผลทางเศรษฐกิจไม่เยอะ แต่กระทบคนจำนวนมากแน่นอน”

ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้การเจรจาภายในยากเช่นเดียวกับการเจรจาภายนอก ในวันที่รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพและความเป็นเอกภาพ นอกจากนี้ ยังมองว่าต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในหลายภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้อง เพื่อชดเชยความเสียหายในกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบจากข้อเสนอที่ให้กับสหรัฐ ไม่อย่างนั้นอาจกลายเป็นประเด็นทางการเมืองและมีการชุมนุม อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ปัจจุบันจะจัดทำได้ทันทีค่อนข้างยาก อาจต้องใช้เวลาในการปรับตัวและกลไกในการช่วยเหลืออย่างน้อยในระยะสั้น ซึ่งเป็นความท้าทายมากสำหรับรัฐบาลปัจจุบัน

สำหรับทางออกหากมองในแง่ดีอาจทำให้ไทยได้ปฏิรูปบางภาคที่ได้รับการปกป้องมากนาน อาทิ อาหารและเกษตร ให้สามารถแข่งขันได้สูงขึ้น อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวค่อนข้างอ่อนไหวและอาจต้องใช้เวลาในการปรับโครงสร้างพอสมควร

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า การที่สหรัฐฯ ส่งจดหมายแจ้งไทยในกลุ่มประเทศแรก ๆ ว่าจะเก็บภาษีในอัตรา 36% ซึ่งเป็นกลุ่มที่การเจรจายังไม่สำเร็จ นอกจากนี้ยังมีประเทศที่น่าสนใจอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมาเลเซียที่มีข่าวว่ามีการเจรจาอยู่ตลอด แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน ขณะที่กลุ่มที่สองเชื่อว่าระยะถัดไปสหรัฐฯ อาจส่งจดหมายเพิ่มอีก 100 ฉบับกับประเทศที่เกินดุลสหรัฐไม่มากนัก หรือขาดดุลการค้ากับสหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 10% และกลุ่มที่ 3 กลุ่มประเทศยุโรป และอินเดีย ซึ่งยังมีข่าวอยู่ระหว่างการเจรจา

อย่างไรก็ตามจดหมายของสหรัฐยังไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้าย แต่จะเป็นการเรียกกลับไปเจรจาเพิ่ม เนื่องจากมีการขยายเวลาบังคับใช้มาตรการภาษีไปเป็นวันที่ 1 ส.ค. หากดูเนื้อหาก็ระบุค่อนข้างชัดว่าต้องการแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้า ต้องการดึงการลงทุนกลับไปยังสหรัฐ และหากไทยเปิดตลาดสามารถปรับเปลี่ยนเงื่อนไขที่ระบุในจดหมายได้ และอีกประเด็นสำคัญ สหรัฐฯ เน้นเรื่องอัตราภาษีนำเข้าแต่ละประเทศ มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่เกี่ยวกับภาษี และการเข้มงวดเรื่องการสวมสิทธิ์ ซึ่งเป็นข้อตดลงเดียวกันกับที่เห็นจากเวียดนาม

ขณะที่กรณีไทย มองว่าถูกยื่นให้เลือกทางใดทางหนึ่ง และเป็นการแลกเปลี่ยนที่ไม่ง่ายในสถานการณ์ปัจจุบัน ด้านหนึ่งหากไทยไม่สามารถเจรจาได้ มีความเสี่ยงที่จะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 36% จะกระทบกับต้นทุนการส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และกระทบกับดีมานด์อย่างแน่นอน และที่สำคัญหากไทยถูกเรียกเก็บอัตราภาษีในระดับที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญ จะกระทบภาคการลงทุนด้วย โดยเฉพาะการลงทุนใหม่

ปัจจุบันไทยส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ 18% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ซึ่งภาคการส่งออกคิดเป็น 50% ของ GDP ซึ่งจะกระทบทั้งในแง่ของรายได้การส่งออก การลงทุน และความสามารถในการแข่งขันระยะยาว เนื่องจากการลงทุนที่มีเป้าหมายเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐจะหายไปอาจได้รับผลกระทบในแง่ของการลงทุนระยะสั้น อย่างไรก็ตามคาดว่าจะยังมีการลงทุน สำหรับการส่งออกไปยังตลาดอื่น อาทิ ญี่ปุ่น ยุโรป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 68)