EU จวกมอลตาอนุมัติใบอนุญาตทำธุรกิจคริปโทฯ โดยไม่ประเมินความเสี่ยงรอบด้าน

สำนักงานกำกับดูแลด้านการเงินของสหภาพยุโรป หรือ ESMA เปิดเผยในวันพฤหัสบดี (10 ก.ค.) ว่า ประเทศมอลตาไม่ได้ดำเนินการประเมินความเสี่ยงอย่างเพียงพอก่อนจะออกใบอนุญาตให้กับบริษัทคริปโทเคอร์เรนซีรายหนึ่ง ภายใต้กฎระเบียบใหม่ของสหภาพยุโรป (EU)

ESMA เริ่มต้นการสอบสวนกระบวนการอนุมัติใบอนุญาตของมอลตาตั้งแต่เดือนเม.ย. หลังเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียด โดยการตรวจสอบในครั้งนี้มุ่งเป้าไปยังการอนุมัติใบอนุญาตให้บริษัทคริปโทฯ รายหนึ่งซึ่งไม่ได้ระบุชื่อ

สื่อระหว่างประเทศเคยรายงานเมื่อเดือนมิ.ย.ว่า ESMA กำลังจับตาวิธีการที่มอลตาออกใบอนุญาตให้แก่บริษัทคริปโทฯ อย่างรวดเร็ว ซึ่งสร้างความกังวลให้กับหน่วยงานกำกับดูแลในบางประเทศสมาชิกของ EU

ภายใต้กฎระเบียบ Markets in Crypto-Assets (MiCA) ซึ่งเพิ่งมีผลบังคับใช้ในปีนี้ บริษัทที่ต้องการให้บริการด้านคริปโทฯ ภายใน EU จะต้องได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศใดประเทศหนึ่งก่อน จากนั้นใบอนุญาตนี้สามารถนำไปใช้ได้ในประเทศสมาชิกอื่น ๆ ผ่านกลไกที่เรียกว่า “พาสปอร์ต” ซึ่งกระบวนการนี้ก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความไม่สอดคล้องของแนวทางการอนุมัติระหว่างประเทศ และความสามารถของหน่วยงานกำกับดูแล-v’แต่ละประเทศในการดูแลบริษัทการเงินข้ามพรมแดนที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้ ESMA ระบุว่า สำนักงานบริการทางการเงินของมอลตา (MFSA) มีทรัพยากรและความเชี่ยวชาญเพียงพอในการออกใบอนุญาตและกำกับดูแลบริษัทคริปโทฯ ตามกรอบของ MiCA แต่กระบวนการอนุมัติของมอลตานั้นกลับเป็นไปแค่เพียงบางส่วนตามที่คาดหวัง

ESMA ชี้ว่า กระบวนการอนุมัติน่าจะดำเนินการด้วยความรอบคอบมากกว่านี้ และควรใช้เวลาให้มากพอเพื่อให้ MFSA สามารถประเมินการปฏิบัติตามข้อกำหนดของ MiCA ได้อย่างถูกต้อง

จากผลการตรวจสอบ ยังพบว่ามีประเด็นสำคัญหลายอย่างเกี่ยวกับบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตยังไม่ได้รับการแก้ไข หรืออยู่ระหว่างการดำเนินการ นอกจากนี้ ประวัติด้านการกำกับดูแลของบริษัทดังกล่าวก็ไม่ได้รับการพิจารณาอย่างเหมาะสมก่อนการอนุมัติ

ในแถลงการณ์เมื่อวันพฤหัสบดี (10 ก.ค.) MFSA ระบุว่า มอลตาภูมิใจที่เป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่เริ่มใช้กฎระเบียบเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ไม่ได้ตอบโต้โดยตรงต่อคำวิจารณ์ของ ESMA

มอลตาเปิดเผยว่า นับตั้งแต่เดือนม.ค.ที่ผ่านมา มอลตาได้อนุมัติใบอนุญาตให้กับผู้ให้บริการสินทรัพย์คริปโทฯ แล้วจำนวน 5 ราย ภายใต้กรอบกฎหมาย MiCA

ทั้งนี้ ESMA แนะนำว่า หน่วยงานกำกับดูแลของมอลตาควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับแผนธุรกิจของบริษัทคริปโทฯ, ความขัดแย้งด้านผลประโยชน์, การจัดการด้านธรรมาภิบาล, ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และการส่งเสริมบริการที่อยู่นอกเหนือการกำกับดูแล

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.ค. 68)