
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยว่า เตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์แห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ในเร็ว ๆ นี้ พิจารณาปรับเงื่อนไขในมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าระยะแรก (EV 3.0) และระยะที่สอง (EV 3.5) โดยเฉพาะการเพิ่มอำนาจให้กรมสรรพสามิต สามารถระงับการจ่ายเงินชดเชยให้กับค่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้าร่วมโครงการได้ทันที ในกรณีที่ค่ายรถยนต์หรือบริษัทไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการสนับสนุนได้ เช่น การผลิตรถ EV ชดเชยไม่ได้ตามเงื่อนไข เป็นต้น
โดยเบื้องต้นจะมีการเพิ่มเงื่อนไขเพื่อใช้ในการประกอบการพิจารณาระงับการจ่ายเงินชดเชยให้กับค่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้าร่วมโครงการ โดยทุกค่ายรถจะต้องทำแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อชดเชยส่งให้กรมสรรพสามิตทุกเดือน ซึ่งจะมีการตั้งเกณฑ์การผลิตในแต่ละเดือนไว้ที่ 30% ของแผนการผลิตที่ส่งมา และหากผลิตได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 1 เดือน จะโดนใบเหลือง และหากเดือนต่อไปยังผลิตได้ต่ำกว่า 30% ของแผนการผลิตที่ส่งมา ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวก็จะโดนใบแดง ซึ่งกรมสรรพสามิต จะมีอำนาจระงับการจ่ายเงินชดเชยได้ทันที
“ค่ายรถจะต้องทำแผนทุกเดือน ถ้าเดือนใดเดือนหนึ่งผลิตได้ไม่ถึง 30% ของแผน จะโดนใบเหลือง และถ้าเดือนต่อไปก็ยังทำไม่ถึง 30% ของแผนอีก จะโดนใบแดง และกรมสรรพสามิต จะระงับการจ่ายเงินชดเชยได้ทันที โดยแผนที่ค่ายรถส่งมานี้ ก็จะมีกรอบใหญ่ซึ่งเป็นแผนการผลิต 1 ปีครอบอยู่อีกที ว่าในแต่ละปีค่ายรถจะต้องผลิตชดเชยเท่าไหร่ ตรงนี้จะเป็น 2 กรอบที่เข้ามาเพิ่มเติม ตรงนี้เป็นการเพิ่มให้กรมสรรพสามิตมีคัทเอาท์ หรือกระบองสำหรับจัดการค่ายรถที่ทำผิดเงื่อนไข โดยหลังจากบอร์ดอีวีเห็นชอบแล้ว จะต้องส่งให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป” รมช.คลัง กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ เพื่อสนับสนุนรถยนต์ประเภท PHEV, HEV และ ICE ซึ่งเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการมากขึ้น เพราะอีกโจทย์ที่สำคัญของรัฐบาล คือ การทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ประเภท PHEV, HEV และ ICE ยังสามารถดำรงอยู่ได้นานที่สุด เนื่องจากซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมรถยนต์ประเภทดังกล่าวค่อนข้างยาว และอาจจะยาวกว่ารถยนต์อีวีด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นการดำเนินการนอกเหนือจากการผลักดันอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า
รมช.คลัง กล่าวว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดขาย และยอดการผลิตรถยนต์ในเดือน มิ.ย.68 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เริ่มเห็นยอดการผลิตเพื่อการส่งออกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีจากการเร่งผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายของรัฐบาลที่ดึงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาในไทย
“ที่ผ่านมา จะเห็นว่ารัฐบาลมีการปรับตัวภาษีต่าง ๆ เพื่อทำให้รถยนต์ประเภท PHEV, HEC และ ICE ยังยืนระยะอยู่ได้ ไม่ได้บอกว่าเป็นการปรับลดอัตราภาษี แต่เป็นการสร้างแรงจูงใจให้มากขึ้น” นายเผ่าภูมิ ระบุ
จ่อเรียกค่าปรับ “เนต้า” หลังผลิตรถ EV ชดเชยไม่ได้ตามเงื่อนไข
ส่วนกรณีบริษัท เนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ที่ขณะนี้ยังไม่สามารถผลิตรถอีวีชดเชยได้ตามเงื่อนไขนั้น รมช.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้กรมสรรพสามิต ได้ระงับการจ่ายเงินชดเชยเรียบร้อยแล้ว และขั้นตอนต่อไป คือ การพิจารณากระบวนการเรียกร้องค่าปรับจากค่ายรถยนต์ดังกล่าว โดยเบื้องต้นค่าปรับจะคิดบนฐานภาษีสรรพสามิตที่ค่ายรถได้ประโยชน์ไปทั้งหมด
สำหรับวิธีการคำนวณค่าปรับกรณีผิดเงื่อนไขมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐ กรณีครบกำหนดผลิตชดเชยวันที่ 31 ธ.ค. 2568 คือ ยึด Bank Guarantee ที่บริษัทฯ นำมาวางไว้, ยึดเงินอุดหนุน 150,000 บาทต่อคัน พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี และค่ายรถจะต้องจ่ายคืนภาษีสรรพสามิตที่ได้รับยกเว้น ประมาณ 6% บวกเบี้ยปรับ 2 เท่าของภาษีสรรพสามิต บวกกับเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน และค่าปรับอีก 1 เท่า
“มาตรการสนับสนุน จะสิ้นสุดจริงในวันที่ 31 ธ.ค.68 ซึ่งถ้าตรงไปตรงมาเลยก็ต้องดูว่าในวันดังกล่าว ค่ายรถยังผลิตชดเชยขาดไปเท่าไร ก็ต้องปรับไปตามเกณฑ์ ตอนนี้สรรพสามิตกำลังดูอยู่ เพราะเราไม่เห็นการผลิตแล้ว การจะไปรอจนถึงวันสิ้นสุดมาตรการ ก็อาจจะช้าไป เราก็ควรจะทำให้เร็วกว่านั้น โดยอยู่บนกระบวนการทางกฎหมายว่าเมื่อเราเห็นว่าไม่มีการผลิตแล้ว ถึงแม้ว่ายังไม่ถึงเดตไลน์ก็ตาม เราจะดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายอย่างไรได้บ้าง แต่เบื้องต้นตอนนี้ คือ ระงับการจ่ายชดเชยเรียบร้อยแล้ว โดยการเรียกค่าปรับนี้ จะต้องดำเนินการกับบริษัทที่เซ็นเข้าร่วมมาตรการกับสรรพสามิต คือ บริษัท เนต้า (ประเทศไทย) จำกัด” นายเผ่าภูมิ กล่าว
พร้อมยืนยันว่า ปัจจุบันยังไม่มีสัญญาณ หรือแนวโน้มว่าค่ายรถยนต์อีวีรายอื่น จะกระทำผิดเงื่อนไขตามมาตรการสนับสนุน โดยภาพรวมอุตสาหกรรมอีวีในประเทศไทย ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ค. 68)