ครม. รับข้อเสนอ กสม.ให้ทุกหนวยงานเร่งแก้มลพิษในแม่น้ำกก-แม่น้ำสายกสม

น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบข้อเสนอแนะ มาตรการหรือแนวทางส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จากปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน กรณีการปนเปื้อนมลพิษในแม่น้ำกก และแม่น้ำสาย จากประเทศเมียนมา ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอ

โดยสถานการณ์การปนเปื้อนมลพิษในแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย ทวีความรุนแรงขึ้นจากการทำเหมืองแร่ทองคำ และแร่แรร์เอิร์ธของบริษัทเอกชนที่ไม่ทราบสัญชาติ บริเวณต้นแม่น้ำกก และแม่น้ำสายในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา มีการสกัดแร่ด้วยสารเคมีอันตราย ทำให้ดินและกากแร่ปนเปื้อนโลหะหนัก (สารหนู แคดเมี่ยม ปรอท) ชะล้างลงสู่แม่น้ำสายหลัก และไหลเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลสู่ปัญหาร้ายแรงทางสุขภาพ

โดย กสม.เห็นว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลที่ดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนมลพิษในลุ่มแม่น้ำกก (แม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำรวก) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันปัญหาขยายตัวสู่ลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงมีข้อเสนอแนะเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ดังนี้

1.มาตรการภายในประเทศ

  • ให้กรมควบคุมมลพิษ ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเพิ่มความถี่ของการเก็บตัวอย่างน้ำ และตะกอนดิน ในพื้นที่เสี่ยง และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนที่เหมาะสม และพัฒนาระบบการเตือนภัยให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว และทั่วถึง
  • ให้กระทรวงสาธารณสุข (กรมควบคุมโรค กรมอนามัย และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด) ตรวจสุขภาพและคัดกรองโรคที่อาจเกิดจากโลหะหนัก (โดยเฉพาะสารหนู) ให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่อย่างเร่งด่วย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
  • ให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกระทรวงมหาดไทย เร่งจัดหาน้ำดื่มสะอาดสำรองสำหรับประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัย และวางแผนระยะยาวในการจัดหาแหล่งน้ำดิบที่ปลอดภัย พร้อมพัฒนาระบบประปาหมู่บ้านให้มีประสิทธิภาพครอบคลุม
  • ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเมินผลกระทบเบื้องต้นต่อภาคเกษตร และการท่องเที่ยว และกำหนดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเฉพาะหน้าแก่ผู้ได้รับผลกระทบ
  • สนับสนุนงบประมาณสำหรับการขจัดสารพิษ และฟื้นฟูแหล่งน้ำที่ปนเปื้อน รวมถึงโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ และพืชพรรณริมตลิ่ง เพื่อเสริมสร้างความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ
  • ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำโขงเหนือ เป็นหน่วยประสานหลัก และเสนอให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ แต่งตั้งหรือปรับปรุงองค์ประกอบของอนุกรรมการทรัพยากรน้ำระดับจังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่

2.มาตรการระหว่างประเทศ

  • ให้กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการเจรจากับประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ เพื่อยุติการกิจการเหมืองแร่ที่เป็นต้นเหตุของมลพิษโดยเร็วที่สุด โดยใช้กลไกความร่วมมือ ทั้งในทวิภาคี และระดับภูมิภาคที่มีอยู่
  • ให้กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดแนวทางความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดน ผ่านกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิผล รวมถึงให้ประเทศในภูมิภาคพัฒนากฎหมายภายใน เพื่อรองรับการจัดการ ป้องกัน และเยียวยาผลกระทบจากปัญหามลพิษข้ามพรมแดน

ทั้งนี้ ครม.มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณา ร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงบประมาณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการลุ่มแม่น้ำโขงเหนือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ภายใน 30 วัน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ค. 68)