
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ ศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งในคดีที่ รฟท.ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน กับพวกรวม 3 ราย ในคดีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่ 5,083 ไร่ 4 ข้อหา แต่ศาลรับพิจารณาไว้ 2 ข้อหา คือ
ข้อหาที่ 1 ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งให้ยุติเรื่องการสอบสวน การออกหนังสือแสดงสิทธิ
ข้อหาที่ 2 ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของอธิบดีกรมที่ดิน (อธิบดีกรมที่ดิน) และปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ กรณี รฟท.ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน ที่มีคำสั่งให้ยุติเรื่องการสอบสวนการออกหนังสือแสดงสิทธิ
ส่วนอีก 2 ข้อหา ที่ศาลปกครองกลางไม่รับคำร้อง คือ ข้อหาที่ 3 ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดิน ร่วมกันเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้ง 995 ฉบับ
ข้อหาที่ 4 ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ที่ออกทับที่ดินของ รฟท. ตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของการรถไฟ
โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากเป็นเรื่องเดิม มีข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี และคำขอบังคับในลักษณะเดียวกันกับประเด็นที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว ในคดีศาลปกครองกลาง
นายวีริศ กล่าวว่า รฟท.ได้ยื่นอุทธรณ์ไปแล้วเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 68 ซึ่งต้องรอว่าศาลจะรับพิจารณาประเด็น 3 และ 4 ที่รฟท.อุทธรณ์ไปหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 5-6 เดือน
นายวีริศ กล่าวว่า ล่าสุดทางรมว.มหาดไทย จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการทบทวนเรื่องเขากระโดงใหม่ ดังนั้น ภายในสัปดาห์นี้ รฟท.จะทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย เพื่อยืนยันข้อมูลและข้อเท็จจริงเดิมเพื่อประกอบการพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากก่อนหน้านี้ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เคยมีหนังสือตอบกลับรฟท. ว่าเห็นควรให้ยุติตามคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน และ รฟท.ได้ยื่นประท้วงไปที่กระทรวงมหาดไทยแล้วครั้งหนึ่ง
สำหรับหลักการในการดำเนินการเรื่องที่ดินเขากระโดง ตอนนี้มี 3 แนวทาง คือ
1. ให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอน ซึ่งศาลปกครองรับพิจารณา และล่าสุดกระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการทบทวน
2. ศาลปกครองคำสั่งเพิกถอน ซึ่งมีโมเดล “บ้านท่านุ่น” จังหวัดพังงา ซึ่งศาลปกครองเคยมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิผู้กบุกรุกที่ดินการรถไฟฯ ซี่งมีรูปแบบเดียวกับที่ดินเขากระโดง
3. ขอให้อัยการสูงสุด ในฐานะทนายแผ่นดินให้ดำเนินการฟ้องรายแปลง ทั้ง 995 แปลง เนื่องจากรฟท.ไม่มีบุคลากรเพียงพอ ซึ่งรฟท. ทำหนังสือถึงอัยการสูงสุด ไปเมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมา ขณะนี้ยังรอคำตอบ
ทั้งนี้กรณี ไม่สามารถดำเนินการได้ทั้ง 3 แนวทาง รฟท.จะพิจารณาฟ้องเองเป็นรายแปลง ซึ่งก็ต้องจัดกลุ่มและดำเนินการฟ้องร้อง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ค. 68)