ไทยยื่นข้อเสนอใหม่ ชงลดภาษีนำเข้าสหรัฐ 0% หลายรายการ-เตรียมแผนเยียวยา

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเจรจามาตรการภาษีกับสหรัฐ ว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ในฐานะหัวหน้าทีมไทยแลนด์ ได้พูดคุยผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ซึ่งมีการหารือข้อเสนอใหม่ในการลดภาษีนำเข้าสินค้าให้สหรัฐฯ 0% ในหลายรายการ รวมทั้งข้อเสนออื่น ๆ

สำหรับการเยียวยากลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ นั้น กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมแผนเยียวยาไว้แล้ว รวมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ โดยแบ่งเป็น 2 สมมติฐาน คือ สมมติฐานแรก ไทยถูกเรียกเก็บภาษี 36% และสมมติฐานสอง ไทยถูกเรียกเก็บภาษี 20% เทียบเท่าเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ

“ในแต่ละสมมติฐานดังกล่าว ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่ามีสินค้าประเภทไหนได้รับผลกระทบบ้าง และกระทบในระดับใด และควรต้องใช้มาตรการเยียวยาช่วยเหลืออย่างไร ซึ่งทั้งหมดจัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว รอเพียงผลเจรจา ว่าที่สุดแล้วจะออกมาอย่างไร” รมว.พาณิชย์ ระบุ

ด้านนายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายจตุพร ให้หารือกับนายโรเบิร์ต เอฟ โกเด็ก เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ มีบทบาทสำคัญในการการเตรียมข้อมูลเชิงลึกทั้งด้านสถิติการนำเข้า-ส่งออก การวิเคราะห์ผลกระทบ รวมถึงการจัดทำสถานการณ์จำลองเชิงนโยบาย (scenario) สนับสนุนหัวหน้าทีมเจรจา เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์สูงสุด และลดผลกระทบให้น้อยที่สุด

รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า การหารือครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนมุมมองเชิงนโยบายด้านเศรษฐกิ จและการค้าท่ามกลางบริบทการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยฝ่ายไทยได้ติดตามท่าทีของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในประเด็นการจัดเก็บภาษีตอบโต้ทางการค้า กระทรวงพาณิชย์มีบทบาทในการรวบรวมข้อมูลเพื่อสนับสนุนหัวหน้าทีมเจรจา ให้สามารถสรุปแนวทางร่วมกับสหรัฐฯ ได้โดยเร็ว โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาคส่วนต่างๆ ภายในประเทศ

“กระทรวงพาณิชย์ ได้หารือกับภาคเอกชนทุกอุตสาหกรรม เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางปรับตัว รองรับการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการสวมสิทธิ์สินค้าไทย เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด รวมถึงการใช้โอกาสดังกล่าวในการวางแผนการปรับปรุงโครงสร้างการผลิต เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในประเทศมากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การคำนวณสัดส่วนมูลค่าการผลิตในประเทศ/ภูมิภาค (Regional Value Content : RVC)เพื่อวัด Local Content ให้เป็นระบบที่เชื่อถือได้ เป็นระบบเดียวกันมากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกไทยไปสหรัฐฯ” รมช.พาณิชย์ กล่าว

ในโอกาสนี้ ฝ่ายไทยได้ขอความร่วมมือจากเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในการให้ข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นที่สหรัฐฯ ให้ความสนใจ เพื่อเป็นแนวทางในการผลักดันความร่วมมือที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ และเป็นรากฐานสำคัญในการขยายความร่วมมือด้านต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ค. 68)