กรมราง-ไจก้า จับมือพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าระยะ 2 คาดปี 83 ผู้โดยสารทะลุ 3.4 ล้านคน/วัน

นายโอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ร่วมกับ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานร่วมเปิดการสัมมนา ในหัวข้อ “Driving Railway Network and Urban Growth with The Second Mass Rapid Transit Master Plan in Bangkok Metropolitan Region (M-MAP2)” เพื่อนำเสนอและหารือเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางราง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และรองรับการเติบโตของเมืองอย่างยั่งยืนในอนาคต

ซึ่งที่ผ่านมา องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) เข้ามาสนับสนุนประเทศไทยในการพัฒนาระบบรถไฟในเมืองหลายโครงการ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง และได้ร่วมมือกับกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ในการดำเนินโครงการความร่วมมือทางวิชาการ ในการสนับสนุนการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2 (M-MAP2) เช่น การจัดทำแบบสำรวจความต้องการการเดินทาง (Demand Survey) และการจัดทำแบบจำลองการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร เป็นต้น รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาทักษะของบุคลากรด้านระบบราง ผ่านโครงการฝึกอบรมต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรไทย ในด้านการบริหารจัดการและการบำรุงรักษาระบบรถไฟ

นายซาคุโดะ ชุนสุเกะ หัวหน้าผู้แทน สำนักงาน JICA ประเทศไทยกล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ เป็นการนำเสนอรายละเอียดของแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่าย M-MAP2 ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว ที่มุ่งมั่นขยายและเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอย่างทั่วถึง โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด ลดมลภาวะ และส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญทั้งจากประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่น ร่วมบรรยายแลกเปลี่ยนประสบการณ์และนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) มีการนำเสนอแผนงานที่เป็นรูปธรรมในการพัฒนาระบบรางภายในแผนแม่บท M-MAP2 รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์และความสำเร็จของประเทศญี่ปุ่นในการพัฒนาระบบรถไฟในเมือง และการบริหารจัดการพื้นที่บริเวณโดยรอบสถานี (Transit-Oriented Development – TOD) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม

ด้าน นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า ทางไจก้าให้ความร่วมมือในการให้แนวคิด และความเห็นในการพัฒนาระบบรางและการพัฒนา TOD รวมถึงด้านการพัฒนาบุคลากร การซ่อมบำรุงต่าง ๆ เป็นโมเดล เพื่อสามารถพัฒนาต่อยอดในอนาคต เพราะจะทำให้เห็นภาพการพัฒนาในแต่เส้นทาง การแบ่งเฟส จัดลำดับความสำคัญก่อนหลังที่เหมาะสม หลักคิดมี 5 ด้านหลัก เช่น อัตราค่าโดยสารให้สามารถเข้าถึงได้ และระบบตั๋วร่วม, ระยะเข้าถึงสถานีเฉลี่ยประมาณ 800 เมตร, ระบบฟีดเดอร์ เพื่อให้โซนที่อยู่ไกลเส้นทางรถไฟฟ้าเข้าถึงได้สะดวกขึ้น และเรื่องการเชื่อมต่ออย่างไร้รอยต่อ

สำหรับแผนแม่บท M-Map-1 มีการพัฒนาระหว่างปี 2553-2572 จำนวน 14 เส้นทาง ระยะทาง 553.41 กม. โดยไจก้าเข้ามาช่วยเหลือแนวคิด เช่น

  • รถไฟฟ้า MRT สีน้ำเงิน ระยะทาง 47 กม. วางสายทางเชื่อมเป็นวงกลม ปัจจุบันมีผู้โดยสาร 461,000 คน/วัน
  • สายสีม่วง ระยะทาง 23 กม. เส้นทางเชื่อมจากด้านตะวันตกของกทม. ปัจจุบันมีผู้โดยสาร 73,000 คน/วัน
  • สายสีแดง ระยะทาง 41 กม. วางแนวเป็นโครงข่ายหลักเชื่อมจังหวัดทางด้านเหนือของกทม. ปัจจุบันมีผู้โดยสาร 31,000 คน/วัน
  • อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 4 สาย ระยะทาง 81.30 กม. เช่น สายสีส้ม สายสีม่วง ด้านใต้ และแอร์พอร์ตลิงก์ เชื่อมพญาไท-ดอนเมือง

สำหรับการพัฒนาด้าน TOD นั้น จะนำร่องที่รถไฟสายสีแดง ทั้งสถานีปลายทาง และสถานกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นอกจากนี้ ยังมีที่สถานีศิริราช จุดเชื่อมต่อของรถไฟฟ้าสีส้ม และสีแดง และสถานีวงเวียนใหญ่ ที่มีรถไฟฟ้า 3 สาย เชื่อมต่อกัน คือ สีม่วง สีแดง และสีเขียว

สำหรับแผนแม่บท M-Map 2 (ปี 2568-2583) นั้น พิจารณาโครงข่ายเพิ่มเต้มจาก M-Map 1 เช่น แก้จุดที่เป็นคอขวด หรือต่อขยายเส้นทางไปยังจังหวัดรอบ กทม. มีแนวคิด 5 ด้าน คือ 1. จำนวนผู้โดยสาร ( Capacity) 2. ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น 3. ราคาเป็นธรรม 4. ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการ 5. เชื่อมโยงไร้รอยต่อ โดยมี 19 เส้นทาง ซึ่งเป็นเส้นทางจาก M-Map 1 ที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง 12 เส้นทาง และโครงการใหม่ 3 เส้นทาง และต่อขยาย 3 เส้นทาง นอกจากนี้ยังมีโครงข่ายฟีดเดอร์อีก 27 เส้นทาง

โดยประเมินว่า เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2583 จะทำให้มีระบบรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 4.33% เป็น 7.01% และมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจาก 1.7ล้านคน/วัน เป็น 3.4 ล้านคน/วัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ค. 68)