ม็อบมาเลเซียเรือนหมื่นบุกกรุง จี้ “อันวาร์” ลาออก เซ่นพิษเศรษฐกิจ-แทรกแซงยุติธรรม

ประชาชนมาเลเซียเรือนหมื่นออกมาชุมนุมใหญ่ใจกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ในวันเสาร์ (26 ก.ค.) เพื่อขับไล่นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ให้ลาออกจากตำแหน่ง โดยไม่พอใจปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูง และกล่าวหาว่ารัฐบาลล้มเหลวในการปฏิรูปประเทศและปราบปรามการทุจริตตามที่เคยให้สัญญาไว้

ชนวนเหตุสำคัญของการประท้วงครั้งนี้มาจากความไม่พอใจต่อมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งการขยายขอบเขตภาษีการขายและบริการ และการปรับลดเงินอุดหนุน ซึ่งประชาชนกังวลว่าจะยิ่งซ้ำเติมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ประกอบกับข้อครหาเรื่องการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม หลังจากอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีคอร์รัปชันของบุคคลสำคัญในฝ่ายรัฐบาล และเกิดความล่าช้าในการแต่งตั้งผู้พิพากษาระดับสูง

กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่สวมชุดดำและใช้สัญลักษณ์ “Turun Anwar” (อันวาร์จงลงจากตำแหน่ง) ได้เดินขบวนมุ่งหน้าสู่จัตุรัสเมอร์เดกา (จัตุรัสแห่งอิสรภาพ) เพื่อฟังการปราศรัยจากแกนนำฝ่ายค้าน โดยตำรวจประเมินว่ามีผู้เข้าร่วมอย่างน้อย 18,000 คน

ไฮไลต์สำคัญของการชุมนุมคือการปรากฏตัวของมหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีวัย 100 ปี ซึ่งขึ้นเวทีกล่าวโจมตีอันวาร์ว่าใช้อำนาจในทางมิชอบเพื่อเล่นงานคู่แข่งทางการเมือง “คนบริสุทธิ์กลับถูกดำเนินคดี แต่คนที่ทำผิดกลับลอยนวล” มหาเธร์กล่าว ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่อันวาร์เคยปฏิเสธมาโดยตลอด

ท่ามกลางแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อันวาร์ได้ประกาศมาตรการบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพ ทั้งการแจกเงินสด เพิ่มความช่วยเหลือแก่ครัวเรือนยากจน และให้คำมั่นว่าจะลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง

ด้านนูร์ ชะฮีเราะฮ์ เลมัน วัย 23 ปี หนึ่งในผู้ชุมนุมจากกลุ่มนักศึกษาอิสลาม กล่าวว่า เธอวิตกว่าภาระภาษีใหม่และการขึ้นค่าไฟฟ้าสำหรับภาคธุรกิจจะถูกผลักมาให้ผู้บริโภคในท้ายที่สุด “ภาษีเหล่านี้เก็บจากผู้ผลิต ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาอาหารโดยตรง”

สำหรับความขัดแย้งระหว่างมหาเธร์กับอันวาร์ ซึ่งเคยเป็นอดีตศิษย์-อาจารย์ที่กลายมาเป็นคู่แค้นทางการเมือง ถือเป็นความขัดแย้งที่ฝังรากลึกและส่งอิทธิพลต่อการเมืองมาเลเซียมาเกือบสามทศวรรษ ทั้งสองเคยจับมือกันเพื่อโค่นล้มรัฐบาลพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan Nasional) ในปี 2561 แต่รัฐบาลผสมของพวกเขาก็ล่มสลายลงในเวลาไม่ถึงสองปีจากความขัดแย้งภายใน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ค. 68)