นักวิชาการเรียกร้องหยุดยิงเดินหน้าเจรจาการค้าสหรัฐ หวั่นเศรษฐกิจเสียหายหนัก

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เมื่อเสียงปืนดังขึ้นตามแนวชายแดน การเจรจาหารือกันด้วยเหตุผลก็จะหายไป เมื่อเราดำดิ่งเข้าสู่สงครามยืดเยื้อยาวนานเท่าไหร่ ความเสียหายจะยิ่งยากต่อการเยียวยามากขึ้นเท่านั้น สร้างบาดแผลและปัญหาติดตามมามากมาย และ เราจะสูญเสียทรัพยากรจำนวนมากในการแก้ปัญหาอื่นๆของสังคม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความไม่เป็นธรรมทางสังคม จะถูกบดบังด้วยความเกลียดชังทางเชื้อชาติและสงครามได้

รัฐบาลไทยควรเปิดการเจรจากับกัมพูชาเพื่อให้มีการหยุดยิงรักษาชีวิตผู้คนและลดความเสียหายทางเศรษฐกิจ การยื่นข้อเสนอของประธานาธิบดีทรัมป์ให้หยุดยิงเพื่อการเจรจาเรื่องภาษีทางการค้าจะได้เดินหน้าต่อไปได้ เป็น ข้อเสนอที่ต้องได้รับการตอบสนองทั้งจากไทยและกัมพูชา หากไม่มีการเจรจาหยุดยิง นอกจาก “ไทย” จะได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของการปะทะกันทางการทหารแล้ว เราจะยังได้รับผลกระทบจากอัตราภาษี 36% อีกด้วย

ผลกระทบเศรษฐกิจและภาคการลงทุนไทยรุนแรงหากสงครามชายแดนยืดเยื้อ เฉพาะหน้าการค้าชายแดนหยุดสิ้นเชิงเสียหายหนัก ปี 2567 ที่ผ่านมา การค้าชายแดนระหว่างสองประเทศมีมูลค่าสูงถึง 174,530 ล้านบาท โดยไทยส่งออกผ่านการค้าชายแดนไปกัมพูชามากถึง 141,847 ล้านบาท และนำเข้า 32,684 ล้านบาท ทำให้ไทยได้ดุลการค้าเกินกว่า 109,163 ล้านบาท สินค้าหลักที่ไทยส่งออก ได้แก่ อัญมณี น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องดื่ม น้ำตาล และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทของไทยในฐานะผู้จัดหาสินค้าจำเป็นให้แก่กัมพูชา ปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวของการค้าตามแนวชายแดนดังกล่าว ได้แก่ ความต้องการบริโภคในกัมพูชาที่เพิ่มขึ้น การมีพรมแดนติดต่อกัน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการคมนาคมตามแนวชายแดน อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดทางการเมืองและทางการทหารตามแนวชายแดนตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นมา ส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนตามแนวชายแดนและการดำเนินชีวิตของผู้คนจากการปิดด่าน มีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องประเมินความเสี่ยงเชิงยุทธศาสตร์จากสถานการณ์ดังกล่าว

ทาง ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินและคาดการณ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากกรณี “ปิดด่านชายแดนไทย–กัมพูชาทั้งหมด ดังนี้

1.ปิดด่าน 3 เดือน : “ชะลอตัวแต่ยังไม่ถึงขั้นเสียหายถาวร”

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ:

  • มูลค่าการค้าชายแดนที่หายไปอาจอยู่ที่ประมาณ 45,000–50,000 ล้านบาท (คิดเฉลี่ยจากมูลค่าการค้าเฉลี่ยเดือนละ ~15,000–17,000 ล้านบาท)
  • ธุรกิจอาจต้อง เร่งส่งสินค้าผ่านเส้นทางทางเรือ โดยมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 10–25%

ความสามารถในการปรับตัวของธุรกิจ:

  • ผู้ส่งออกขนาดใหญ่ มีศักยภาพปรับตัวได้ผ่านการใช้ท่าเรือ หรือส่งผ่านเวียดนาม
  • SMEs เผชิญปัญหาแรงจากต้นทุนและข้อจำกัดด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะผู้ที่พึ่งพาด่านชายแดนโดยตรง

2. ปิดด่าน 6 เดือน : “ธุรกิจเริ่มเสียสมดุล”

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ:

  • มูลค่าการค้าหายไปอาจสูงถึง 90,000–100,000 ล้านบาท หรือราว 30–35% ของมูลค่าทั้งปี
  • ความเชื่อมั่นทางการค้าและการลงทุนในตลาดกัมพูชาจะลดลง
  • การท่องเที่ยวข้ามแดนหยุดชะงัก ธุรกิจโรงแรม-ร้านอาหารฝั่งกัมพูชาที่พึ่งตลาดนักท่องเที่ยวจากไทยอาจปิดตัว

ความสามารถในการปรับตัวของธุรกิจ:

  • ธุรกิจจะต้อง หาตลาดใหม่หรือย้ายฐานการผลิตบางส่วน เช่น ผ่านเวียดนามหรือพนมเปญโดยตรง
  • การวางระบบโลจิสติกส์ระยะกลาง เช่น เช่าคลังในฝั่งกัมพูชา หรือ ใช้ท่าเรือสีหนุวิลล์ มากขึ้น

3.ปิดด่าน 1 ปี (ระยะยาว): “เกิดความเสียหายเชิงโครงสร้าง”

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ:

  • การค้าชายแดนอาจหายไปถึง 150,000–170,000 ล้านบาท หรือเกือบ 60% ของการค้าระหว่างประเทศ
  • ไทยอาจสูญเสียตลาดกัมพูชาในบางสินค้า ให้แก่จีนหรือเวียดนามแบบถาวร
  • นักลงทุนไทยอาจ ย้ายฐานไปประเทศอื่น หรือถอนการลงทุนบางส่วน

ความสามารถในการปรับตัวของธุรกิจ:

  • ผู้ประกอบการไทยจะเข้าสู่ ระยะ “ดิสรัปชั่น” (Disruption) ต้องลงทุนใหม่หรือถอนตัวบางส่วน
  • SMEs จำนวนมากอาจไม่สามารถอยู่รอดได้ โดยเฉพาะในธุรกิจโลจิสติกส์ชายแดน

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า หากเปรียบเทียบกับกรณีความขัดแย้งชายแดนเมื่อปี 2554 ซึ่งใช้เวลาราว 4 เดือน กว่าการค้าจะกลับสู่ภาวะปกติ ครั้งนี้มีแนวโน้มจะฟื้นตัวอย่างไรจะอยู่ที่การเจรจาหยุดยิงและการเปิดด่านตามแนวชายแดนจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้าตามแนวชายแดนในปี พ.ศ. 2568 มีโอกาสขยายตัวติดลบเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมาที่มีการขยายตัวเป็นบวก

นายอนุสรณ์กล่าวอีกว่า ส่งออกครึ่งปีแรกยังขยายตัวดีจากการเร่งส่งออกหลังจากมีการเลื่อนเส้นตายเก็บภาษีตอบโต้ ทำให้ส่งออกเดือนมิถุนายน ตลาดสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 41.9% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ภาพรวมอัตราการขยายตัวของการส่งออกครึ่งปีแรกอยู่ที่ 15% มูลค่า 1.66 แสนล้านดอลลาร์โดยตลาดส่งออกสหรัฐฯเติบโตสูงถึง 29.7% อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณชะลอตัวลงของภาคส่งออกในเดือนกรกฎาคม และ ช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปีน่าจะชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยบางเดือนอาจมีการขยายตัวติดลบ

นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค-ธุรกิจมีโอกาสทรุดต่อเนื่อง ขณะที่งบประมาณปี 2569 อาจสะดุดจากปัญหาทางการเมือง การใช้จ่ายภายในประเทศไม่ฟื้นตัว จึงต้องมีมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับสถานการณ์ชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโดยภาพรวมให้ดี ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายนของ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ดัชนีอยู่ที่ระดับ 52.7 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 28 เดือน ขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยซึ่งสำรวจจากมุมมองของภาคธุรกิจในแต่ละภูมิภาคโดยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 46.7 สะท้อนความกังวลของผู้ประกอบการต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

เพื่อให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจดีขึ้น จำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้ความสามารถในการแข่งขันดีขึ้น การมุ่งลงทุนไปยังอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การสร้างห่วงโซ่อุปทานในประเทศให้เข้มแข็งด้วยเครือข่าย การเร่งเจรจาเพื่อทำข้อตกลงการค้ากับตลาดใหม่ๆ กระจายเม็ดเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือ Soft Loan สองแสนล้านบาท ให้รวดเร็วทั่วถึง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินผลกระทบต่อการใช้จ่ายภายในประเทศจากสงครามการค้าและสงครามชายแดน

กลุ่มสินค้า/บริการ ตัวอย่างสินค้า/บริการ ผลกระทบ
ภาคการบริโภค
1. สินค้ายุทธปัจจัย ข้าว, น้ำมัน, น้ำตาล, อาหารแห้ง, ยารักษาโรค ยอดการผลิตและปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้น
2. สินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าคงทน เสื้อผ้าแบรนด์เนม, กระเป๋า, เครื่องสำอางราคาแพง, รถยนต์, มอเตอร์ไซค์, ทีวี, แอร์, ตู้เย็น สินค้าคงทนต้องก่อหนี้ระยะยาว ต้องมีความมั่นใจในรายได้
3. บริการท่องเที่ยวและสันทนาการ โรงแรม, ร้านอาหารหรู, ทัวร์, สวนสนุก, ตั๋วเครื่องบิน ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวและความบันเทิง แหล่งท่องเที่ยวบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาหยุดชะงัก
4. สินค้าอุปโภคบริโภคระดับกลาง-บน อาหารแปรรูปพรีเมียม, น้ำผลไม้สุขภาพ, ออร์แกนิก ผู้บริโภคเปลี่ยนไปใช้สินค้าราคาถูกลง
ภาคธุรกิจ
5. วัสดุก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ปูนซีเมนต์, เหล็ก, กระเบื้อง, บ้าน, คอนโด นักลงทุนชะลอโครงการใหม่จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
6. สินค้า B2B/ลงทุนภาคผลิต เครื่องจักร, วัตถุดิบ, ชิ้นส่วนอุตสาหกรรม ธุรกิจชะลอการลงทุนจากความไม่มั่นใจในนโยบายและตลาด
แหล่งที่มา: ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ / ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.ค. 68)