คาดยอดใช้จ่ายช่วงปีใหม่เกือบ 5 หมื่นล้าน ลดลง 6.7%

  • ผลสำรวจประชาชนกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท พบประชาชนระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้น
  • ภาพรวมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ คาดว่าจะมีการจับจ่ายราว 49,900 ล้านบาท ลดลง 6.7% จากปีก่อน คิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 3,550 บาท ลดลงจากปีก่อนเช่นกัน
  • การออมเงินเป็นเป้าหมายที่ประชาชนต้องการทำในปี 2563 มากที่สุด รองลงมาคือ ลดรายจ่าย ดูแลสุขภาพ หารายได้เพิ่ม และ ใช้หนี้
  • ประชาชนกลุ่มนี้ได้รับสิทธิจากมาตรการชิมช้อปใช้ 37.9% โดยมีการใช้สิทธิของเฟส 1-2 ที่มีการแจกเงินมากที่สุด

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน ได้ทำการสำรวจการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลปีใหม่ จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท ทั่วประเทศจำนวน 2,186 ตัวอย่าง พบว่า ภาพรวมการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลปีใหม่ คาดว่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยประมาณ 49,900 ล้านบาท ลดลง6.7% จากปีก่อน ส่วนค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 3,550 บาท ลดลงจากปีก่อนเช่นกัน ทั้งนี้ ประชาชนฐานรากส่วนใหญ่มองว่ารายได้และค่าใช้จ่ายอยู่ในระดับเท่าเดิมเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

สำหรับแหล่งที่มาของเงินที่นำมาจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่าส่วนใหญ่มาจากรายได้ (85.5%) เงินออม (10.3%) เงินช่วยเหลือของรัฐ (3.4%) ส่วนเงินกู้ยืม ซึ่งมีทั้งเงินกู้ในระบบและนอกระบบ (0.8%) โดยเมื่อเทียบกับปีก่อน พบว่าประชาชนฐานรากที่ใช้เงินในช่วงเทศกาลปีใหม่จากรายได้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

เมื่อสำรวจลักษณะการทำกิจกรรม และการจับจ่ายใช้สอยเฉลี่ยต่อคนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่า กิจกรรม 3 อันดับแรกที่ประชาชนฐานรากนิยม คือ (1) ให้เงินคนในครอบครัว 55.4% มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,985 บาท (2) สังสรรค์ เลี้ยงฉลอง 49.7% มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,150 บาท (3) ทำบุญ/ไหว้พระ/สวดมนต์ 44.7% มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 400 บาท ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนแต่ละกิจกรรมกับปีก่อน พบว่าประชาชนฐานรากให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนในครอบครัว โดยการให้เงินกับคนในครอบครัว และกลับภูมิลำเนา/เยี่ยมญาติมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

ส่วนของขวัญ/ของฝากที่ประชาชนฐานรากคาดว่าจะซื้อในช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่า 3 อันดับแรก คือ อาหาร/ผัก/ผลไม้/ขนม (66.1%) เสื้อผ้า/เครื่องนุ่งห่ม (51.8%) และเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ (29.2%) ซึ่งกลุ่มตัวอย่างประชาชนฐานรากส่วนใหญ่ยังคงนิยมเลือกซื้อของขวัญ/ของฝากที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อผู้รับในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้

สำหรับสถานที่ซื้อ และบุคคลที่ต้องการให้ของขวัญของฝาก พบว่า สถานที่ซื้อ 3 อันดับแรก คือ ห้างสรรพสินค้า (31.2%) ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (31.1%) และตลาด/ร้านค้าทั่วไป (26.8%) ส่วนบุคคลที่ต้องการให้ของขวัญ คือ คนในครอบครัว (84.8%) ผู้ใหญ่ที่เคารพ (37.3%) และตนเอง (33.4%)

เมื่อสอบถามถึงเป้าหมายที่จะทำในปีใหม่นี้ พบว่า ประชาชนฐานรากตั้งเป้าหมายที่จะออมเงิน (65.5%) ลดรายจ่าย (49.1%) และดูแลสุขภาพ (27.0%) ทั้งนี้เมื่อพิจารณาในภาพรวม จะพบว่าประชาชนฐานรากให้ความสำคัญด้านการเงินเป็นส่วนมาก ทั้งเรื่องการออมเงิน ลดรายจ่าย หารายได้เพิ่ม และใช้หนี้

สิ่งที่ประชาชนฐานรากต้องการจากรัฐบาลเป็นของขวัญปีใหม่ 2563 พบว่า 3 อันดับแรก คือ ลดค่าครองชีพ (55.1%) ลดราคาค่าเชื้อเพลิง (54.2%) และการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ (24.7%) ซึ่งใกล้เคียงกับความต้องการของปีที่ผ่านมา

เมื่อสอบถามถึงการรับรู้ของมาตรการ “ชิมช้อปใช้” พบว่าประชาชนฐานรากส่วนใหญ่รับรู้ถึงมาตรการฯ 93.5% และได้รับสิทธิ 37.9% ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าประชาชนฐานรากส่วนใหญ่รับรู้ข่าวสาร และนิยมใช้สิทธิ ที่มีการให้เงินสดที่อยู่ในเฟสที่ 1 และ 2″ นายชาติชาย กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ธ.ค. 62)

Back to Top