สธ.เผยผู้ป่วยใหม่ลดลงเล็กน้อย หลังติดตามเฝ้าระวังใกล้ชิด

แนวโน้มติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนเริ่มลดลง

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ในภาพรวมของทั้งประเทศ มีผู้ป่วยในกรุงเทพฯประมาณครึ่งหนึ่งและอีกครึ่งหนึ่งอยู่ในต่างจังหวัด ซึ่งก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากผิดปกติ

มีผลทำให้จำนวนผู้ป่วยในวันนี้ 104 ราย ลดลงจากเมื่อวานนี้ซึ่งอยู่ที่ 120 ราย อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย ซึ่งก็เป็นผลจากการติดเชื้อเมื่อประมาณ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

สำหรับรายละเอียดของผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นวันนี้ 104 ราย พบว่า จำนวนหลายรายมีประวัติเป็นผู้สัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้านี้ กล่าวคือ เมื่อพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จะมีการติดตามผู้สัมผัสโดยจะดูอาการเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งการ Quarantine จะทำให้สามารถดูอาการได้ต่อเนื่องทุกวัน ถ้ามีอาการป่วยมีไข้ อาการทางเดินหายใจก็จะได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม จำนวน 41 ราย จาก 104 ราย ที่พบว่าเป็นผู้ป่วยรายใหม่ สาเหตุจากเรามีระบบเฝ้าระวังติดตามตัวและประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการที่จะอยู่ในการดูแลอย่างใกล้ชิด

ขณะที่กลุ่มที่กลับมาจากต่างประเทศ ซึ่งมีการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจทางศาสนา ไปท่องเที่ยว และทำธุรกิจ แม้ว่าในส่วนหลังจะน้อยลงเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีอยู่

ในส่วนของกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง หรือ สถานบริการที่มีโอกาสเกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเริ่มลดลงในช่วงเดือนที่ผ่านมา ด้วยสถานการณ์ระบาดในต่างประเทศเองและประเทศไทย แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวที่ตกค้าง หรือเข้ามาใหม่ๆ แม้จะเป็นจำนวนน้อย แต่เมื่อเดินทางเข้ามาถึงประเทศไทย ทำให้คนไทยที่ทำงานบริการนักท่องเที่ยวมีความเสี่ยงอยู่ เพราะฉะนั้นในการทำงานก็จะต้องระมัดระวังที่สำคัญคือ ต้องใช้หน้ากากอนามัยร่วมกับการล้างมือบ่อยๆ เพื่อจะได้เป็นการลดความเสี่ยงและป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ

สำหรับกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสนามมวย พบว่า จำนวนผู้ป่วยน้อยลงเรื่อยๆ โดยวันนี้เหลือแค่ 1 ราย ที่มีประวัติไปชกมวยก่อนหน้านั้นและเพิ่งเริ่มมีอาการป่วยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม กลุ่มก้อนที่เกิดจากสนามมวยขณะนี้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้หลังจากที่เหตุการณ์ผ่านมาประมาณ 3 สัปดาห์เศษ เพราะฉะนั้นการป่วยที่เกี่ยวข้องกับสนามมวยก็อยู่ในระดับที่ลดลงและควบคุมได้

นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับในต่างจังหวัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาคสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง และประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีแม้ว่า จะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในบางจังหวัด แต่ก็มีเป็นส่วนน้อยและส่วนใหญ่สามารถจัดการได้ดี

นพ.โสภณ กล่าวถึงการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้ 1.สามารถลดการสัมผัสโรคได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสในสถานที่ที่มีคนไปรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก เช่น สถานบันเทิง หรือสถานประกอบการต่างๆ 2. ลดการเดินทาง ทำให้การแพร่เชื้อน้อยลง เว้นว่าก่อนหน้านั้นมีการออกต่างจังหวัดตั้งแต่ 21-22 มี.ค.ก่อนประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

“โดยรวมถือว่าสถานการณ์ขณะนี้ หลังประกาศใช้พระราชกำหนด น่าจะเรียกว่าอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ส่วนผลดีของการใช้พระราชกำหนดที่เป็นการนับจำนวนผู้ป่วยหรือดูอาการติดเชื้อที่ลดลง ต้องใช้เวลาประมาณอีกสัก 1 อาทิตย์” นพ.โสภณกล่าว

ด้านนพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีระดับผู้ป่วยขยับไปเรื่อยๆ แต่ไม่หนักหนาสาหัสเหมือนหลายประเทศในยุโรปนั้น เนื่องจากมีการทำการวิจัย พบว่า คนไทยใส่หน้ากากประมาณ 92-93% ขณะที่มีเจลล้างมืออยู่ทุกจุด ไม่ว่าไปที่ไหนก็มีตั้งไว้ทุกแห่ง ดังนั้นจึงยังต้องมีมาตรการป้องกันตนเอง

“สิ่งที่อยากจะเตือนวันนี้ คือเราคงจะต้องมีมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันตัวเองที่เข้มข้นอยู่ ยกตัวอย่างเช่นการใส่หน้ากากและการล้างมือ เช่นถ้าวันนี้ผมกลับบ้านไป ผมจะล้างมือก่อนแล้วอาบน้ำ ถ้าเจอคนเยอะๆ ก็จะสระผมด้วย นี่คือหลักการป้องกันตัวเอง ได้ปลอดภัยมากที่สุด และคิดว่าจะมีการนำแนวทางปฏิบัตินี้ไปใช้ เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและคนใกล้ชิดด้วย เพราะถ้าท่านติดเชื้อคนหนึ่งก็จะก่อปัญหาทั้งครอบครัว ก่อปัญหากับคนใกล้ชิดที่จะต้องถูกกันเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสพอสมควร” นพ.ทวี กล่าว

สำหรับกรณีชายวัย 57 ปีที่เสียชีวิตบนรถไฟ โดยก่อนหน้านั้นสามารถผ่านด่านที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยไม่แสดงอาการเป็นไข้ และการที่ไม่แสดงอาการเป็นไข้แปลว่าสามารถแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นโดยที่ตัวต้นเหตุไม่รู้ตัวใช่หรือไม่นั้น นพ.โสภณ กล่าวว่า ถือเป็น Case หนึ่งที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่มีรายงานการระบาดของโรค เพราะฉะนั้นถ้าหากสามารถให้ข้อมูลความเป็นจริงในเรื่องของความเจ็บป่วยได้ ก็จะทำให้ได้รับการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยที่เร็วขึ้น

สำหรับรายนี้ตอนผ่านด่านที่สุวรรณภูมิ วัดอุณหภูมิได้ 35.1 องศาเซลเซียส ก็คือไม่มีไข้ในเวลานั้น และถ้าดูจากการเจ็บป่วยของเขา เป็นการเสียชีวิตเฉียบพลัน ไม่ค่อยเหมือนการเสียชีวิตจากโรคทางเดินหายใจ เพราะฉะนั้นในรายนี้ก็จะไม่ใช่การตายจากโรคโควิด-19 แบบเฉียบพลัน เพราะไม่มีไข้ และอาการไม่มาก แล้วยังสามารถเดินด้วยตัวเองเพื่อไปซื้อตั๋วรถไฟ จนกระทั่งมีคนไปพบว่าเสียชีวิตบนขบวนรถไฟ ซึ่งไม่ได้แสดงให้เห็นถึงอาการเหนื่อยหอบตลอดทางจนเสียชีวิต

นพ.ทวีกล่าวเสริมว่า ในฐานะที่เป็นแพทย์ที่ดูแลคนไข้ จะเห็นว่า 3 เดือนกว่าที่ผ่านมา เราได้ข้อมูลของความเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้น เลยมาถึงประเด็นของไข้ถ้าดูย้อนหลัง พบว่า คนที่ป่วยด้วยโรคนี้ในวันแรกๆ จะมีอยู่ประมาณครึ่งเดียวที่มีไข้เกิน 37.5 อีกครึ่งนึงไม่มีไข้ แต่พอเข้าวันที่ 2 วันที่ 3 ไข้จะขึ้น กว่า 90% สำหรับรายที่เสียชีวิตนี้ผ่านด่านหมดเลย แสดงว่าไม่มีไข้จริงๆ หลังจากนั้นก็ไปซื้อตั๋วและขึ้นรถไฟ ขณะอยู่บนรถไฟก็มีอาการไอ แต่ไม่ได้ไอมากตลอดเวลา แต่ระหว่างทางมีอาการอาเจียนและเริ่มเหนื่อย

“ซึ่งอาการเหล่านี้ มักจะบ่งบอกว่าสงสัยจะไม่ใช่ปอดแล้ว อาจจะมี แต่ก็ไม่ใช่ปอดเป็นหลัก ถ้าปอดเป็นหลักและปุบปับเสียชีวิต ไม่สามารถเดินแบบนี้ได้ ต้องมีการนอนและเหนื่อยหอบ แต่คนไข้คนนี้หลังจากเสียชีวิตแล้ว มีการตรวจเชื้อและพบเชื้อในปริมาณที่ค่อนข้างสูง และเขามีอาการที่ค่อนข้างเฉียบพลันมาก เหมือนกับเป็นโรคเกี่ยวกับทางหัวใจ ซึ่งคนนี้มีประวัติเบาหวาน ซึ่งเป็นเบาหวานชนิดที่ต้องฉีดยาคุมระดับน้ำตาล แสดงว่าอาการค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นก็จะมาถึงอีกจุดหนึ่งว่า หรือเพราะว่าคุมน้ำตาลไม่ดีจะสวิงไปสวิงมาเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเฉียบพลันแบบนี้ได้” นพ.ทวีกล่าว

พร้อมระบุว่า โดยปกติแล้วโรคโควิดจากที่มีรายงานมาและหลายกรณี ถ้าจะเสียชีวิตต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าหลายวันกว่าเชื้อจะลงปอด กว่าจะทำลายเนื้อปอดต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้นรายนี้คงมีแน่ เพราะมีการตรวจเชื้อเจอ แต่โรคที่ทำให้เสียชีวิตอาจจะเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นโรคหัวใจร่วมด้วย

นพ.ทวี กล่าวถึงกรณีหน้ากาก N95 ขาดแคลน และหลายประเทศมีการศึกษาเรื่องการใช้ช้ำว่า ตอนนี้ประเทศไทยเดินมาถึงจุดนั้นแล้ว และทุกประเทศทั่วโลกก็ต้องเดินมาถึงจุดนั้นเหมือนกันจากภาวะขาดแคลนอย่างมาก ประเทศไทยก็ได้เตรียมตัวและมีการศึกษาวิจัย โดยยกตัวอย่างที่ รพ.รามาธิบดี มีการนำมาฉายแสงยูวี และมีการตรวจเชื้อ ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการสรุป

“คิดว่าคงจะสรุปได้ภายในสิ้นสัปดาห์นี้ว่าจะใช้วิธีไหน เพราะมีหลายวิธีตั้งแต่ใช้ UV ฆ่าเชื้อใช้ความร้อนสูงประมาณ 70 องศาซึ่งก็เหมือนกับหม้อร้อนที่ไม่ใช้ไอน้ำ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที แล้วก็ยังมีวิธีอื่นอีก ระดับคณาจารย์ทั้งหลายกำลังทำการวิจัยกำลังสรุปอยู่คิดว่า ในสัปดาห์หน้าคงมีการประกาศเพื่อนำไปใช้ได้ต่อ” นพ.ทวีระบุ

ขณะที่มีการแนะนำให้ใช้ N95 แล้วสวมทับด้วยหน้ากากอนามัยสีเขียวสวมทับด้านนอก และเวลาเข้าไปในห้องที่ดูแลคนไข้เสร็จเรียบร้อยก็ควรทิ้งแมสสีเขียวและดูว่า N95 บนเปื้อนหรือไม่ ถ้าปนเปื้อนก็ทิ้ง แต่ถ้าไม่ปนเปื้อนรูปทรงยังดีก็สามารถใช้ซ้ำได้

ด้านนพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าวถึงมาตรการ Social Distancing ว่า ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยหรือไม่มีมาตรการป้องกัน คาดว่าเดือนเมษายน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะพุ่งถึง 20,000 กว่าราย แต่ถ้าเราทำมาตรการ Social Distancing 50% ก็จะมีผู้ป่วยประมาณ 17,000 ราย แต่ธงที่ทุกคนมองร่วมกันตอนนี้คือ 7,745 ราย ถ้าเราทำ Social Distancing ได้ 80% แต่ถ้าเราอยากได้มากกว่านี้ ยิ่งเราทำมากก็ยิ่งดี

ทั้งนี้ จากการที่กรมควบคุมโรค ทำการสำรวจประชากร 145,000 คน เมื่อวันที่ 24-25 มีนาคมที่ผ่านมา พบว่าการรณรงค์ใช้หน้ากากผ้าเวลาออกจากบ้าน คนส่วนใหญ่ประมาณ 94% ปฏิบัติตาม แม้ตัวเลขจะมาก แต่ควรจะถึง 100%, การล้างมือ ทุกวันนี้มี 90% ซึ่งการล้างมือบ่อยๆจะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อ สุดท้ายคือ Social Distancing ขณะนี้พบว่ามี 64% ของผลสำรวจยังห่างจากเป้าที่กำหนดไว้พอสมควร

ด้านสถิติของคนเดินทางในแต่ละวันของกระทรวงคมนาคม พบว่า วันที่ 26 มี.ค. ประชาชนเดินทาง 1.1 ล้านกว่าคน ส่วนวันที่ 27 มี.ค. เดินทาง 1 ล้านคน ตัวเลขเริ่มลดลง แต่ที่น่าสนใจคือ ปกติคนไทยเดินทางประมาณกี่ล้านคนต่อวัน พบว่าตัวเลขย้อนหลังโดยเฉลี่ยเดินทางประมาณ 2 ล้านคนต่อวัน เท่ากับตอนนี้ประชาชนเดินทางลดลงประมาณ 65% แสดงว่าเรื่องของมาตรการ Social Distancing เริ่ม Effective แต่ยังห่างไกลเป้าหมาย 80% ดังนั้นจึงอยากให้จำนวนรถบนถนน และคนเดินทางลดลงมากกว่านี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 เม.ย. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top