นายกฯ รอประเมินโควิด-19 ปลายเดือนนี้ ก่อนเคาะมาตรการผ่อนปรนหรือเข้มขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า วันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ลดลงตามลำดับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัดให้กับรัฐบาล และ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พิจารณาผ่อนปรนมาตรการใดๆหรือไม่ โดยให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องได้จัดเตรียมความพร้อมหากมีการผ่อนปรนมาตรการ ซึ่งหากสถานการณ์ดีขึ้นจะปรับลดตรงส่วนไหนได้บ้าง หรือหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นจะต้องเพิ่มความเข้มงวดอย่างไร โดยจะประเมินสถานการณ์ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน เม.ย.นี้

นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า เข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชน ในขณะที่รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบในการดูแลภาพรวมทั้งประเทศ ดังนั้นจึงขอให้เข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งรัฐบาลจะมีการประเมินมาตรการต่างๆ เพื่อพิจารณาหาแนวทางให้ดีที่สุด และจะต้องเป็นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดเป็นจำนวนมากและต้องมีมาตรการการป้องกันการกลับมาแพร่ระบาดใหม่

ในส่วนของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ประกาศใช้อยู่และสิ้นสุดในวันที่ 26 เม.ย.นี้นั้นก็จำเป็นต้องพิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่าจะมีการขยายการบังคับใช้หรือไม่ โดยศบค.ต้องไปวิเคราะห์ให้ดี ซึ่งหากขาดความร่วมมือ ขาดวินัย หรือความเข้มงวดลดลง โรคระบาดอาจจะกลับมาโจมตีได้อีก ซึ่งมีตัวอย่างในบางประเทศแล้ว

ทั้งนี้ นายรัฐมนตรี ขอให้ทุกกิจการได้เตรียมความพร้อมของตัวเอง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมหากกลับมาเปิดดำเนินการตามปกติ ทั้งเรื่องของการตรวจคัดกรองบุคคลเข้า-ออก การใช้เจลล้างมือ รวมถึงปริมาณคนที่จะเข้ามาในพื้นที่ในหลายๆ กิจการ

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม ซึ่งจากฐานข้อมูลแรงงานทั้งหมด 37 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ แรงงานนอกระบบ 9 ล้านคน แรงงานในระบบ 11 ล้านคน และเกษตรกร 17 ล้านคน

ส่วนการจ่ายเงินเยียวยาจำนวน 5,000 บาทนั้น เป็นเงินที่มาจากงบกลางปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 5 หมื่นล้านบาท โดยยอมรับว่าสามารถจ่ายเงินเยียวยาได้เพียง 1 เดือนเท่านั้น ส่วนอีก 2 เดือนที่เหลือ ต้องรอจาก พ.ร.ก.กู้เงิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท คาดว่าจะสามารถนำมาเบิกจ่ายได้ ภายในเดือน พ.ค.หรือ มิ.ย. นี้

“เราใช้เงินจากงบกลาง 63 บางโครงการเอาคืนมา ที่ยังไม่ได้ดำเนินการเอามาใช้ตรงนี้ก่อน ก็มีวงเงิน 5 หมื่นกว่าล้านบาท มันจะคลอบคลุมการจ่ายเงิน 5,000 บาทได้แค่เดือนเดียว เดือนที่ 2 ที่ 3 ผมก็รอเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท มันถึงจะมาดูเดือนที่ 2 ที่ 3 ต่อไปได้”

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ส่วนแรงงานในระบบ 11 ล้านคน ก็ใช้เงินจากกองทุนประกันสังคมที่ใช้เงินไปแล้ว 2.3 แสนล้านบาท ด้านเกษตรกร 17 ล้านคนก็จะมีการพิจารณาหาเงินจากแหล่งอื่นๆตามกฏหมายงบประมาณ

นายกรัฐมนตรี กล่าวขอโทษประชาชนทุกคนหากยังให้ความช่วยเหลือยังไม่ทั่วถึง แต่ยืนยันว่าจะรับฟังข้อเสนอจากทุกภาคส่วน และรัฐบาลจะพิจารณานำวงเงินไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากสุด พร้อมทั้งฝากให้ทุกคนประคับประคองตัวเองช่วงนี้ไปก่อน รัฐบาลก็พยายามจะดูแลให้มากที่สุด ซึ่งเห็นใจและคิดที่จะแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา

“ทุกวันนี้เราทำได้แค่ 1 เดือน ที่เหลือต้องรอพ.ร.ก.กู้เงิน ในเดือนที่ 2,3,4 บางทีก็พูดเกินเลยได้ 3 เดือนบ้าง ยังไม่ได้ข้อยุติเลยตอนนั้นที่พูดออกไป หลายคนร้อนใจ หลายคนอยากให้ช่วยประชาชน บางทีมันก็ย้อนกลับมา ผมก็ขอร้องให้ทำความเข้าใจด้วย ผมก็พูดในฐานะหัวหน้ารัฐบาล”

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 เม.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top