In Focus: จับตาเกมการเมืองมรณะและวิกฤตสหรัฐ-อิหร่าน หลัง”ทรัมป์”สั่งเก็บ”โซเลมานี”แม่ทัพเบอร์หนึ่ง

ยังไม่ทันจะผ่านพ้นเดือนแรกของปีหนู สถานการณ์ในตะวันออกกลางก็เดือดปะทุขึ้นมา จากการสังหารผู้บัญชาการทหารคนสำคัญของอิหร่านโดยกองทัพสหรัฐภายใต้คำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จนสร้างความเคียดแค้นให้กับอิหร่าน พร้อมประกาศจะล้างแค้นสหรัฐอย่างสาสม ขณะที่อิหร่านประกาศตั้งค่าหัวประธานาธิบดีสูงถึง 2,400 ล้านบาท ส่งผลให้ตะวันออกกลางกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่ท่าทีระหว่างสหรัฐและอิหร่านตึงเครียดอย่างหนัก ทั่วโลกพากันหวาดผวาถึงสงครามโลกครั้งใหม่ In Focus สัปดาห์นี้ จึงขอพาผู้อ่านเจาะวิกฤตระลอกใหม่ พร้อมกับจับตาความเคลื่อนไหวล่าสุด และประเมินความเป็นไปได้ของสงคราม

สหรัฐเปิดเกมมรณะ : อย่าล้ำเส้นสหรัฐ

“พวกที่มือเปื้อนไปด้วยเลือดของกัสซิม โซเลมานี และพรรคพวก จงรอคอยการแก้แค้นอย่างสาสม” นี่คือถ้อยแถลงของ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน ที่เผยให้เห็นอุณหภูมิการเมืองอันคุกรุ่นระหว่างสหรัฐและอิหร่าน หลังจากที่กองกำลังสหรัฐปลิดชีพนายพลกัสซิม โซเลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ (Quds Force) ของอิหร่าน ด้วยการโจมตีขบวนรถของนายพลอิหร่านทางอากาศ ขณะที่นายพลคนสำคัญเดินทางถึงสนามบินกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก ในช่วงเช้ามืดของวันศุกร์ที่ 3 ม.ค. 2563

อิหร่านและสหรัฐเผชิญความขัดแย้งที่ร้าวลึกและระส่ำระสายมาโดยตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่เพิ่มระดับความรุนแรงขึ้นนับตั้งแต่ที่ทรัมป์ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2558 พร้อมประกาศรื้อฟื้นมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหญ่ต่ออิหร่าน ส่งผลให้การเมืองและเศรษฐกิจทรุดหนัก สกุลเงินริอัลของอิหร่านร่วงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และเกิดการปะทะกันอยู่ประปราย ภาพเรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส อับราฮัม ลินคอล์น พร้อมกับเครื่องบินทิ้งระเบิด เทียบท่าอ่าวเปอร์เซียเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ยังติดตาผู้คนไม่หาย

ทว่าสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศคู่อริ ตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อนแรงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. กองทัพสหรัฐบุกโจมตีฐานที่มั่น 5 แห่งของกลุ่มติดอาวุธกาตาอิบ ฮิซบอลเลาะห์ (Kata’ib Hezbollah) ในอิรักและซีเรีย เพื่อตอบโต้กลุ่มติดอาวุธที่เข้าโจมตีกองกำลังที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐที่ปฏิบิติการอยู่ในประเทศอิรัก จนทำให้ผู้รับเหมาของสหรัฐเสียชีวิต อีกทั้งสหรัฐเชื่อว่า กลุ่มดังกล่าวมีความเชื่อมโยงและได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน

ยังไม่ทันข้ามวันดี เช้าวันที่ 31 ธ.ค. 2562 กลุ่มผู้ประท้วงชาวอิรักหลายร้อยคนบุกเข้าไปยังเขตกรีนโซน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานทูตสหรัฐ กลางกรุงแบกแดด เพื่อแสดงความไม่พอใจที่กองทัพสหรัฐสังหารสมาชิก 25 รายของกลุ่มฮาชด์ชาบี (Hashd Shaabi) พร้อมกับเผาจุดตรวจการณ์บริเวณทางเข้าออกสถานทูต ปิดกั้นทางเข้า และประกาศไล่กองทัพสหรัฐและนักการทูตให้ออกจากประเทศ จนเกิดการประทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ประท้วง

การกระทำอันอุกอาจแก่พลเมืองสหรัฐดังกล่าว สร้างความโกรธเกรี้ยวแก่สหรัฐเป็นอย่างมาก และเมื่อวันที่ 1 ม.ค. นายมาร์ค เอสเปอร์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐส่งทหาร 750 ราย เคลื่อนพลสู่ตะวันออกกลางทันที ส่งผลให้กลุ่มผู้ประท้วงเริ่มทยอยถอนตัวออกจากเขตสถานทูตสหรัฐ มิหนำซ้ำทรัมป์ยังออกโรงประณามอิหร่านว่าเป็นต้นตอของการโจมตีสถานทูตสหรัฐกลางกรุงแบกแดด “อิหร่านจะต้องรับมืออย่างสาสมกับความเสียหายหรือการสูญเสียที่เกิดขึ้น” และเตือนว่า สหรัฐจะปกป้องประชาชนและผลประโยชน์ของสหรัฐไม่ว่าจะที่ใดในโลก

จนกระทั่งช่วงเช้ามืดของวันศุกร์ที่ 3 ม.ค. 2563 กองทัพสหรัฐเปิดฉากปฎิบัติการโจมตีทางอากาศที่ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงแบกแดดของอิรัก ส่งผลให้นายพลกัสซิม โซเลมานี ผู้บัญชาการกำลังคุดส์ของอิหร่าน และนายอาบู มาห์ดี อัล-มูฮันดิส รองผู้นำกองกำลังฮาชด์ชาบี (Hashd Shaabi) ของอิรัก เสียชีวิตทันที ซึ่งสร้างความโกรธแค้นอย่างหนักหน่วงให้กับอิหร่าน

ทันทีที่คำประกาศแก้แค้นสหรัฐกึกก้องไปทั่วโลก เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2563 สหรัฐประกาศส่งกำลังทหารอีก 3,500 รายเข้าไปประจำการยังตะวันออกกลาง พร้อมกับขู่โจมตีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของอิหร่าน 52 แห่ง ซึ่งจำนวนดังกล่าวสอดคล้องกับตัวประกันสหรัฐ 52 คนที่ถูกอิหร่านจับตัวไป แต่ต่อมาสหรัฐได้ปฏิเสธเรื่องการโจมตีสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรม

จนกระทั่งเมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา อิหร่านยิงขีปนาวุธมากกว่าสิบลูกเข้าถล่มฐานทัพของสหรัฐและกองกำลังพันธมิตรของสหรัฐที่ประจำการอยู่ในประเทศอิรักหลายสิบลูกเพื่อตอบโต้การสังหารนายพลคนสำคัญ ความขัดแย้งระหว่างสองชาติดูท่าจะบานปลายและดูเหมือนจะย่างกรายเข้าสู่ภาวะสงครามอย่างไม่เป็นทางการไปเสียแล้ว

อิหร่านชักธงประกาศศึก : แค้นนี้ต้องชำระ

จากเหตุการณ์เขย่าขวัญล่าสุดที่สหรัฐสังหารนายพลคนสำคัญของอิหร่านอย่างไม่ไว้หน้า เปลวเพลิงจากกระแสจากความไม่พอใจโหมกระพือไปทั่วตะวันออกกลาง ทางการอิหร่านชักธงสีแดงเหนือยอดมัสยิดอันศักดิ์สิทธ์เพื่อประกาศสงครามกับสหรัฐอย่างเป็นทางการ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ประกาศกร้าวเตรียมล้างแค้นสหรัฐอย่างสาสม

ด้วยอารมณ์โกรธแค้นที่ยังครุกรุ่น อิหร่านปล่อยหมัดตามมาทันที เมื่อวันที่ 7 ม.ค. รัฐสภาอิหร่านผ่านญัตติเร่งด่วนอย่างเป็นเอกฉันท์ และประกาศขึ้นบัญชีดำกระทรวงกลาโหมสหรัฐ โดยระบุว่าเป็น “องค์การก่อการร้าย” ขณะเดียวกัน ฮอสเซน เดห์กัน ที่ปรึกษาทางทหารของ อยาตอลเลาะห์ คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวบีบีซีว่า อิหร่านจะตอบโต้ทางทหาร และการตอบโต้จะมาจากอิหร่านโดยตรง ไม่ใช่กองกำลังพันธมิตรในภูมิภาคหรือตัวแทนใด เพราะสหรัฐกระทำต่ออิหร่านโดยตรง ดังนั้น อิหร่านต้องดำเนินการต่อสหรัฐโดยตรงเช่นกัน

ท่าทีของอิหร่านเป็นไปตามคาดการณ์ของ ชาร์ล ลิสเตอร์ เจ้าหน้าอาวุโสประจำสถาบันตะวันออกกลางในกรุงวอชิงตันว่า สำหรับแนวทางการตอบโต้ของอิหร่านที่ว่า “เป้าหมายการโจมตีของอิหร่านคือแหล่งพลังงานที่มีปริมาณมหาศาลในบริเวณใกล้เคียง และฐานทัพของกองกำลังสหรัฐ การโจมตีด้วยจรวด การทิ้งระเบิด การลอบสังหาร และแม้กระทั่งการโจมตีทางตรงล้วนเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น”

นอกจากการเผชิญหน้าโดยตรงกับสหรัฐ ดูเหมือนว่าอิหร่านจะเล็งเป้าไปที่พันธมิตรของสหรัฐในภูมิภาคอย่าง อิสราเอล ประเทศคู่อริ ฮอสเซน ซาลามี ผู้บัญชาการกองกำลัง IRGC กล่าว ณ กลางจัตุรัสเมืองเคอร์แมน ภายพิธีฝังศพของนายพลกัสซิม โซเลมานี ว่า อิหร่านจะเผาสถานที่ที่สหรัฐหนุนหลังให้มอดไหม้ พร้อมกับเสียงตะโกนของผู้คนที่มาร่วมชุมนุมว่า “อิสราเอลต้องตาย” แม้ว่าก่อนหน้านี้ นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล จะออกมายืนกรานว่าอิสราเอลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารพลเอกคนสำคัญของอิหร่าน และจะไม่ทำให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มขึ้นก็ตาม

ทำไมต้องเป็น”กัสซิม โซเลมานี” ?

“นายพลกัสซิม โซเลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ (Quds Force) ของอิหร่าน มีส่วนรับผิดชอบโดยตรงต่อการเสียชีวิตของผู้คนหลายล้านคน และสมควรถูกกำจัดก่อนหน้านี้หลายปี” นี่คือถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถึงสาเหตุการสังหารนายพลทัพหน้าของอิหร่าน และถือเป็นความเสียหายอย่างใหญ่หลวงของอิหร่าน จนต้องประกาศไว้อาลัยทั่วประเทศเป็นเวลา 3 วัน

นอกจากดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกองกำลัง IRGC พลเอกกัสซิม โซเลมานี ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษของอิหร่าน และทรงอิทธิพลเป็นรองก็แค่ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน โซเลมานีมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางและนโยบายต่างประเทศของอิหร่าน สกอตต์ ลูคัส ผู้เชี่ยวชาญด้านอิหร่านจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ย้ำถึงอำนาจของผู้บัญชาการทหารอิหร่านรายนี้ว่า “โซเลมานีเป็นบุคคลสำคัญของอิหร่าน ไม่เพียงแต่ด้านทหารเท่านั้น แต่กลยุทธ์ทางการเมืองเช่นกัน”

นอกจากอิทธิพลภายในประเทศแล้ว โซเลมานียังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการขยายอิทธิพลของอิหร่านในตะวันออกกลาง แม้ว่าอิหร่านจะไม่มีอาวุธที่ก้าวหน้าทัดเทียมกับสหรัฐเพื่อที่จะได้เผชิญหน้ากันอย่างตรงไปตรงมา แต่กองกำลังคุดส์ถือเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการคานผลประโยชน์ของสหรัฐในตะวันออกกลาง ดังนั้น ในฐานะหัวหน้ากองกำลังคุดส์ ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้บัญชาการทางทหารเบอร์หนึ่งรายนี้จึงยังเป็นผู้คุมบังเหียนการปฏิบัติการของอิหร่านในตะวันออกกลาง ด้วยการส่งเสริมกองกำลังที่นับถือนิกายชีอะห์ เช่น กลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ ในเลบานอน หรือกลุ่มฮามาสบริเวณฉนวนกาซา ตลอดจนขยายรากฐานกองทัพในอิรักเพื่อโจมตีสหรัฐ

นอกจากอิทธิพลที่มีต่อภูมิภาคตะวันออกกลางแล้ว สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่สหรัฐซุ่มโจมตีนายพลเบอร์หนึ่งคือ เขามีแผนการโจมตีพลเมืองของสหรัฐ ตามที่นายมาร์ค เอสเปอร์ รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐ เปิดเผยสาเหตุการปลิดชีพว่า โซเลมานีวางแผนการโจมตีทูตและเจ้าหน้าที่สหรัฐในอิรักและทั่วภูมิภาคอยู่ตลอดเวลา กองทัพสหรัฐไม่เพียงแต่ต้องการเอาคืน แต่ยังเป็นการขัดขวางแผนการโจมตีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของอิหร่านเช่นกัน ซึ่งสอดคล้องกับถ้อยแถลงของนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ที่ตอกย้ำถึงความจำเป็นในการสังหาร มิฉะนั้นจะเกิดความเสียหายมากกว่านี้ในอนาคต

ท่าทีจากนานาประเทศ : สันติภาพ เสถียรภาพ การเดินทาง

แน่นอนว่าการสังหารพลเอกโซเลมานีสร้างความไม่พอใจให้กับนานาประเทศ ที่หวั่นวิตกว่าวิกฤตนองเลือดในตะวันออกกลางจะอุบัติขึ้นมาอีกครั้ง เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหลายประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสหรัฐและอิหร่านทางเชิงภูมิศาสตร์และความสัมพันธ์ทางการทูตต่างออกมาประณามสหรัฐ และเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายอดทนอดกลั้นและลดความตึงเครียด ด้วยความกังวลว่าจะสถานการณ์จะบานปลาย

นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) เรียกร้องให้ทุกฝ่ายลดความตึงเครียดบริเวณอ่าวเปอร์เซีย และให้ผู้นำทั้งสองฝ่ายสงบสติอารมณ์ “ผู้นำประเทศจะต้องใช้ความอดกลั้นอย่างถึงที่สุด เราไม่สามารถปล่อยให้เกิดสงครามอ่าวเกิดขึ้นอีกครั้ง”

กลุ่มประเทศแถบภูมิภาคตะวันออกกลางที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอิหร่านต่างประณามการกระทำที่อุกอาจของสหรัฐว่าเป็นการสร้างภัยคุกคามต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาค นายอาเดล อับดุล มาห์ดี รักษาการนายกรัฐมนตรีอิรัก กล่าวประณามการโจมตีดังกล่าว มองว่าเป็นการแสดงความก้าวร้าวต่อรัฐบาลและชาวอิรัก ท่าทีของอิรักดังกล่าวสอดคล้องกับแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศเลบานอนที่มุ่งประณามการสังหารอย่างไร้ศีลธรรมครั้งนี้ พร้อมเรียกร้องการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้ง แทนที่จะใช้ความรุนแรง

ขณะที่ประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับอิหร่านอย่างรัสเซียและจีน ต่างเห็นพ้องเรื่องในการใช้แนวทางการทูตในการแก้ไขปัญหา พร้อมกับยับยั้งชั่งใจ นายเกิง ฉวง โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน แสดงถึงความมุ่งมั่นต่อการสร้างสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ตลอดจนคัดค้านการใช้กำลังโดยพลการในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียระบุว่า “การกระทำดังกล่าวไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในตะวันออกกลาง แต่จะนำไปสู่ความตึงเครียดรอบใหม่ในภูมิภาค”

นอกจากการเรียกร้องให้อดทนอดกลั้น หลายประเทศกล่าวเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปอิรักหรืออิหร่าน นายโดมินิก ร้าบ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษ แนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็นไปยังอิรักและอิหร่าน ขณะที่ทางกระทรวงจะยังคงทบทวนสถานการณ์ และให้คำแนะนำกับประชาชนต่อไป เช่นเดียวกับท่าทีของฝรั่งเศส นายฌอง-บาติสต์ เลอมวน รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส กังวลถึงสถานการณ์ความปลอดภัยที่” ผันผวนอย่างมาก” จึงวิงวอนประชาชนงดเว้นการเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าวชั่วคราว

อนาคตที่วังเวง : สงครามและเศรษฐกิจ

ทันทีที่อิหร่านยิงขีปนาวุธถล่มฐานทัพอากาศของสหรัฐ ตามคำสัญญาว่าจะล้างแค้นให้นายพลกัสซิม โซเลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ ราคาทองจากตลาดสปอตพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 6 ปี เนื่องจากนักลงทุนพากันแห่ซื้อทองคำเข้าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียด

บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) ประเมินว่า สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับสหรัฐถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการกำหนดทิศทางราคาทองปี 2563 และมีโอกาสที่ราคาทองคำจะขยับขึ้นสู่ระดับ 1,603-1,616 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ถ้าหากสถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น จะยิ่งเพิ่มโอกาสที่ราคาทองคำจะสามารถทะลุผ่านกรอบแนวต้านแรก โดยประเมินแนวต้านถัดไปบริเวณ 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 24,250 บาท

นอกจากราคาทองที่พุ่งสูงขึ้น ความกังวลว่าจะเกิดสงครามก็สูงขึ้นไม่แพ้กัน พ.อ.สตีเฟน แกนีนาร์ด อดีตนักบินรบสหรัฐวิเคราะห์ว่า ท่าทีของสหรัฐต่อจากนี้จะขึ้นอยู่กับความเสียหายจากการยิงถล่มขีปนาวุธ ณ ฐานทัพทางตอนเหนือของอิรัก และฐานทัพอัล-อาซาดทางตะวันตก โดยระบุว่า “ขึ้นอยู่กับสิ่งที่พวกเขาโจมตี ถ้าไม่มีอะไรเสียหาย สถานการณ์อาจคลายความตึงเครียด แต่ถ้าพวกเขาโจมตีอะไรที่สำคัญหรือมีชาวอเมริกันได้รับบาดเจ็บ พวกเขาเตรียมรอรับการล้างแค้นครั้งใหญ่จากสหรัฐได้เลย”

หากกลับมามองความเป็นไปได้ของการประกาศสงคราม ทอม คันทรีแมน อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฝ่ายความมั่นคงระหว่างประเทศ แสดงความเห็นว่า “การประกาศสงครามเป็นความคิดแบบศตวรรษที่ 20 แม้แต่สหรัฐ รัสเซีย หรือประเทศในตะวันออกกลางก็ไม่เคยประกาศสงคราม และแทบจะไม่ยอมรับเลยว่าพวกเขากำลังทำสงคราม”

ท่าทีดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของทอม มาห์เคน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของศูนย์ประเมินยุทธศาสตร์และงบประมาณ ที่มองว่า “รัฐบาลอิหร่านมองว่าตัวเองเผชิญหน้ากับสหรัฐมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ว่าอิหร่านไม่เคยแบ่งแยกชัดเจนว่าสงครามหรือสันติภาพมานานแล้วเช่นกัน”

ส่วนฝั่งรัฐบาลสหรัฐ ลินซีย์ เกรแฮม สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐ กล่าวว่า การถล่มขีปนาวุธของอิหร่านคือการทำสงคราม ไม่ว่าจะด้วยคำนิยามอะไรก็ตาม พร้อมระบุโดยตรงไปที่อิหร่านว่า “หากคุณกำลังดูโทรทัศน์อยู่ในอิหร่านอยู่…ชะตากรรมด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจจะอยู่ในมือของคุณ หากยืนกรานจะทำต่อ คุณจะตื่นขึ้นมาโดยไม่มีธุรกิจน้ำมันอีกเลย…”

แม้ว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครทราบว่าสถานการณ์ที่ตึงเครียดในตะวันออกกลางจะบานปลายเป็นสงครามหรือไม่ สหรัฐจะงัดกลยุทธ์ใดมาตอบโต้อิหร่าน หรืออิหร่านจะเดินหน้าถล่มสหรัฐตามคำสัญญา หรือทั้งสองประเทศจะหาวิธีการเจรจาอย่างสันติได้ เราคงต้องติดตามกันต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ม.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top