นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังหารือกับ นายคาซูยะ นาชิดะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยว่า ญี่ปุ่นพร้อมร่วมมือกับไทยในเรื่อง RCEP เพื่อให้สามารถลงนามความตกลงได้ภายในปี 2563 โดยหวังว่าจะมีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อให้สมาชิกสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างเต็มที่และบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 รวมถึงยังเห็นพ้องที่จะผลักดันให้อินเดียกลับมาเข้าร่วมการเจรจาต่อไป
ที่ผ่านมาไทยได้ทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ตั้งแต่ปี 2550 ส่งผลให้ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย โดยในปี 2562 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นเป็น 57,780 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยมีการส่งออกไปญี่ปุ่นมูลค่า 24,558 ล้านเหรียญสหรัฐ ในสินค้า เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น และไทยมีการนำเข้าจากญี่ปุ่นมูลค่า 33,222 ล้านเหรียญสหรัฐ ในสินค้า เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น และในปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นเป็น 13,903 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยมีการส่งออกไปญี่ปุ่นมูลค่า 6,061 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยมีการนำเข้าจากญี่ปุ่นมูลค่า 7,842 ล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ ได้ขอให้ญี่ปุ่นสนับสนุนผลไม้ไทย 9 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ทุเรียน สับปะรด มะพร้าวอ่อน มังคุด สละ มะขามหวาน ส้มโอ และกล้วยดิบ ที่สามารถส่งออกไปญี่ปุ่นผ่านกิจกรรมประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาดต่างๆ โดยเฉพาะการขายตรงทางโทรทัศน์ในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นช่องทางที่เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงได้ว่าย อาทิ TV Direct และ TV Shop Channel เพื่อเป็นการผลักดันผลไม้คุณภาพของไทยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นมากขึ้น รวมทั้งขอรับการสนับสนุนจากสายการบินของญี่ปุ่นที่มีเที่ยวบินจากไทยให้เพิ่มพื้นที่ในการขนส่งสินค้าทางอากาศ เพื่อขยายการส่งออกสินค้าผลไม้ของไทยในช่วงโควิด-19 ซึ่งตนเองได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 เม.ย. 63)
Tags: RCEP, กระทรวงพาณิชย์, การค้า, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ญี่ปุ่น, ส่งออก, ไทย