แนะอสังหาฯ มองวิกฤตเป็นโอกาส ปรับรูปแบบขาย-รีโนเวท-วางแผนรับดีมานด์ฟื้นหลังโควิดคลี่คลาย

นายชยพล หรรรุ่งโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัลติจูด ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เปิดเผยในการเสวนาวิชาการครั้งที่ 217 : ฟ้าใหม่อสังหาริมทรัพย์ หลังโควิด-19 ในประเด็นวิกฤตไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างไรกับวงการอสังหาริมทรัพย์ และจะมีแนวทางการปรับตัวอย่างไรจากสถานการณ์ที่ลำบากว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จะส่งผลให้กลไกลการควบคุมซัพพลายในการปล่อยสินเชื่อโครงการใหม่ น่าจะมีผลต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้หรือนานกว่านั้น โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ทำให้การเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียนใหม่จะไม่เกิดขึ้นเลยในช่วง 1 ปีครึ่ง ส่งผลดีต่อการระบายสต็อกเก่า

ทั้งนี้ เชื่อว่าในระยะยาวการปรับสมดุลของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์บางรายที่ทยอยนำสินค้าออกมาขายเพื่อระบายสต็อก โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่เคยมีการลดราคาเลย จะเริ่มเห็นการลดราคาเพื่อระบายสต็อกออกไปส่วนหนึ่งในช่วงนี้ และตัวเลขซัพพลายใหม่ที่ไม่เข้ามาในตลาดภายใน 2-3 ปีนี้น่าจะดีขึ้น ซึ่งมาตรการสนับสนุนทางการเงินให้กับทุกธุรกิจทุกประเภทของรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อัดฉีดเข้ามาในช่วงนี้ มองว่าจะทำให้มีเม็ดเงินทยอยกลับเข้าสู่ระบบได้หลังวิกฤตคลี่คลาย

“เรายังเชื่อว่าหลังวิกฤตจะกลับมาเป็นปกติได้ เนื่องจากมองเป็นเหตุการณ์ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง เหมือนกับเหตุการณ์ทางการเมืองในเมืองไทย แต่ก็ยังมีด้านบวก จากมีการสนับสนุนทางการเงินเข้ามาในหลายมิติใน SME หรือผู้ประกอบการรายย่อยต่างๆ และผลักดันให้เราทำสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ หรือไม่ได้รับความร่วมมือที่จะทำ เช่น การ Live ขายสินค้าออนไลน์” นายชยพล กล่าว

พร้อมกันนี้มองโครงการพรีเซลที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ น่าจะได้รับผลกระทบในระดับหนึ่ง และโครงการที่สร้างเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างรอการระบายน่าจะได้รับผลกระทบพอสมควร โดยแนะนำให้ลดราคาเพื่อดึงดูดความสนใจจากลูกค้า ขณะที่ธุรกิจโรงแรม เชื่อว่าภาคการท่องเที่ยวน่าจะกลับมาได้เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น

สำหรับตัวเลขยอดขายของบริษัทฯ ในช่วงเดือนธ.ค.-ม.ค.ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 จนเริ่มมีการแพร่ระบาดมากขึ้นในเดือนก.พ.-เม.ย.ที่ผ่านมา ยอดขายลดลงราว 30% เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างชะลอตัว และการทำกิจกรรมทางการตลาดก็ไม่ได้ทำให้ลูกค้าสนใจมากนัก แต่อย่างไรก็ตามยอดขายที่ลดลงถือว่ากระทบไม่มากเมื่อเทียบกับสถานการณ์เดิมที่มีอยู่แล้ว

ส่วนธุรกิจโรงแรมอีก 2 แห่ง แบ่งเป็น ย่านสีลมและหัวหิน บริษัทได้ปิดให้บริการตามมาตรการภาครัฐ โดยหลังจากสถานการณ์ฯ คลี่คลาย เชื่อว่านักท่องเที่ยว โดยเฉพาะคนไทยจะกลับมาท่องเที่ยวที่หัวหิน มากกว่ากรุงเทพฯ ที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากสายการบินน่าจะปิดให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศอีกพักใหญ่

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้บริษัทฯ ก็ขอความร่วมมือกับพนักงาน ในการเลิกจ้างชั่วคราว และวางแผนเตรียมเครื่องมือการขายในรูปแบบใหม่ เพื่อให้กระจายหรือเข้าถึงในทุกช่องทาง รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัทฯ ก็มีการตั้งเป้าหมายจะทำอย่างไร เพื่อนำโครงการไปอยู่ในตลาดได้มากที่สุด รวมถึงปรับตัวให้เป็น New Normal

นายชยพล กล่าวว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ควรใช้เวลานี้ในการชะลอการเปิดโครงการใหม่, ปรับปรุงสินค้าให้ดีขึ้น, วางแผนสำหรับปีหน้า จะทำอย่างไรที่จะชดเชยผลกระทบปีนี้ได้, เป็นโอกาสที่ดีในการสะสมที่ดินเพื่อรองรับการเปิดตัวโครงการในปีต่อไป, รีโนเวทโรงแรมใหม่เพื่อรอรับกับนักท่องเที่ยวที่จะกลับเข้ามา และรับกับการแข่งขันในระยะยาว

หรือสำหรับคนที่ต้องการจะขายธุรกิจ ก็ให้รีโนเวทและขายต่อให้กับกลุ่มนักลงทุนที่สนใจ เนื่องจากธุรกิจโรงแรมในไทยยังมีความน่าสนใอยู่มาก จากสามารถสร้างผลตอบแทนจากการเช่าได้, มองหาพันธมิตร ทรานฟอร์มธุรกิจหรือเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นคอนโดมิเนียมครึ่งหนึ่ง เพื่อให้ราคาเข้าพักเฉลี่ยต่อห้องดีขึ้น เป็นต้น

ขณะที่การปรับปรุงสินค้าควรตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตมากขึ้น โดยทำเลติดรถไฟฟ้าต่อจากนี้อาจจะได้รับความน่าสนใจน้อยลง เนื่องจากหลายๆ บริษัทอาจมีแนวทางให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน เพื่อลดค่าใช้จ่ายต่างๆ จึงควรต้องมีสิ่งที่อำนวยความสะดวกมากขึ้นกว่าเดิม เช่น ออกแบบโครงการให้ลูกค้าสามารถลดค่าใช้จ่ายในการอยู่อาศัยลงได้ หรือทำอย่างไรให้คอนโดมิเนียม มีห้องอาหารในคอนโดฯ

นายสัมพันธ์ แป้นพัฒน์ ที่ปรึกษากิตติมาศักดิ์ สมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ธุรกิจโรงแรม ถือเป็นธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยจากการสำรวจโรงแรมไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมโรงแรมไทย พบว่ามีการปิดกิจการรวมทั้งสิ้นกว่า 900 แห่ง คิดเป็น 1 แสนห้อง จากโรงแรมทั่วประเทศที่มีการจดทะเบียนอยู่ที่ 11,000 โรงแรม ขณะที่มีพนักงานที่ไม่ได้ทำงานราว 6.7 หมื่นคน

โดยทางสมาคมฯ เจรจากับสำนักงานประกันสังคมให้มีการตีความเหตุสุดวิสัยใหม่ เนื่องด้วยเดิมมีการตีความว่าจะต้องมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในโรงแรม ถึงจะดำเนินการปิดได้และสามารถรับความช่วยเหลือจากประกันสังคม จึงเสนอตีความให้กว้างขึ้น หรือไม่จำเป็นที่ต้องมีโรคระบาดดังกล่าวถึงปิดดำเนินการได้ หากโรงแรมประเมินว่าได้รับผลกระทบจนต้องมีการปิดกิจการชั่วคราว ให้สามารถดำเนินการเองได้ ซึ่งจะช่วยให้โรงแรมลดค่าใช้จ่ายลง และนำเงินไปใช้จ่ายค่าใช้จ่ายคงที่แทน

“จากที่เคยเผชิญวิกฤตในช่วงที่ผ่านมา พบว่าถ้าผลกระทบน้อยกว่า 4 เดือน โรงแรมจะไม่กระทบ แต่ถ้าเกินจะส่งผลกระทบค่อนข้างมาก ซึ่งวิกฤตครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เราเจอ” นายสัมพันธ์ กล่าว

ส่วนการปรับตัวของธุรกิจโรงแรม สิ่งที่สำคัญ คือต้องปรับปรุงซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ หรือการปรับปรุงสถานที่ให้มีความทันสมัยขึ้นในระหว่างนี้, พัฒนาคุณภาพบุคลากร เนื่องด้วยธุรกิจโรงแรมในอนาคต จำเป็นตองมีแรงงานน้อยลงแต่ทำงานได้มากขึ้น, เจรจากับเจ้าหนี้ หรือธนาคารพาณิชย์ช่วยลดกฎเกณฑ์ลง เพื่อให้โรงแรมกู้ได้ในบางสถานะ เช่น ขอกู้ในลักษณะของซอฟต์โลน เป็นต้น

นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ธุรกิจรับสร้างบ้านได้ผลกระทบใน 3 มิติ ได้แก่ มิติที่กระทบต่อยอดขาย เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง หลังสถานการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดความกังวลในหลายๆ ด้าน เช่น หากสถานการณ์ฯ ลากยาวจะกระทบกับรายได้ในอนาคตลดลงหรือไม่ เป็นต้น ทำให้ความต้องการสร้างบ้านชะลอตัวลง โดยเฉพาะกลุ่มบ้านระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ยอดขายลดลงแล้วกว่า 30-35%, บ้านระดับราคาตั้งแต่ 5-10 ล้านบาท ยอดขายลดลงราว 20% และบ้านระดับราคามากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป ยอดขายลดลงเล็กน้อย 10%

มิติของการทำงานของบริษัท ปัจจุบันจะเป็นการดำเนินงานของงานในมือที่มีอยู่เดิม (Backlog) ซึ่งมองว่าครึ่งปีแรกจนถึงไตรมาส 3 นี้ หลายบริษัทยังมีงานทำอยู่ และสามารถบริหารกระแสเงินสดได้ และมิติของบ้านที่ได้ดำเนินการก่อสร้างไปบ้างแล้ว เริ่มชะลอการก่อสร้าง เนื่องด้วยเจ้าของบ้านไม่มีความมั่นใจถึงสภาพคล่องในมือ ซึ่งถือเป็นผลกระทบจากลูกค้าที่ส่งผลมาถึงธุรกิจรับสรางบ้านอีกทีหนึ่ง

พร้อมกันนี้การปรับตัวของสมาคมฯ แนะนำให้หันไปเปิดงานแสดงสินค้ารับสร้างบ้านบนออนไลน์มากขึ้น ทำให้ลูกค้าสามารถเห็นแบบบ้าน มุมบ้าน และพูดคุยกับตัวแทนจำหน่ายได้สะดวกขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาธุรกิจรับสร้างบ้านก็มีความสนใจเข้าร่วมแล้วหลายราย และคาดว่าในอนาคตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น, การพัฒนาบุคลากรของทางสมาคมฯ โดยใช้เทคโนโลยีติดต่อกันมากขึ้น

ขณะที่ธุรกิจรับสร้างบ้าน ควรปรับองค์กร ในการลดต้นทุนต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมกับดีมานด์ที่จะกลับมา รวมถึงการปรับรูปแบบ โมเดลการสร้างบ้าน เพื่อให้ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป เช่น มีมุมทำงานจากที่บ้าน มีพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านมากขึ้น อีกทั้งปรับแผนธุรกิจจากเดิมที่รับสร้างบ้านอย่างเดียว ก็ให้หันมาดูการรีโนเวทบ้านด้วย เนื่องจากเริ่มเห็นความต้องการของลูกค้าเพิ่มมากขึ้น

นายธนินทร์ นนนที กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบีเอ็นเค แมเนจเมนท์ จำกัด กล่าวว่า มองเป็นโอกาสในช่วงวิกฤตที่จะทำในสิ่งที่ยังไม่เคยทำ เช่น การรีโนเวทห้อง, การเทรนนิ่งพนักงานให้ใช้เทคโนโลยีให้เป็น, ปรับรูปแบบสินค้า ให้ตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้า และวางแผนว่าจะทำอย่างไรให้องค์กรไม่ขาดทุน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 เม.ย. 63)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top