WHAUP เผยกำไรจากการดำเนินงาน Q1/63 ลดลง 19%

จากปริมาณขายไฟ-ความต้องการใช้น้ำลดลงและโครงการในเวียดนามขาดทุน

นายนิพนธ์ บุญเดชานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WHAUP

บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) ประกาศผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2563 โดยมีรายได้และส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติ 662 ล้านบาท และมีผลกำไรจากการดำเนินงานปกติ 219 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 43.50 ล้านบาทลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 424.23 ล้านบาท

กำไรจากการดำเนินงานปกติ (Normalized Net Income) ซึ่งเป็นดัชนีหลักในการสะท้อนผลการดำเนินการหลักของบริษัทมีการปรับตัวลดลง 19% โดยผลการดำเนินการในธุรกิจไฟฟ้ายังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ในขณะที่ธุรกิจสาธารณูปโภคได้รับผลกระทบจากทั้งเรื่องสถานการณ์ภัยแล้งในประเทศไทยและผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

ในขณะที่กำไรสุทธิได้รับผลกระทบจากผลขาดทุนสุทธิจากอัตราแลกเปลี่ยนในการแปลงเงินกู้สกุลดอลลาร์สหรัฐจำนวนประมาณ 178 ล้านบาท เมื่อเทียบกับผลกำไรจำนวน 95 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดของกลุ่มบริษัท

นายนิพนธ์ บุญเดชานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WHAUP ได้กล่าวว่า ธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทยังคงมีผลการดำเนินการหลักที่ดี บริษัทบันทึกส่วนแบ่งกำไรปกติ (Normalized Share of Profit) จากกลุ่มธุรกิจไฟฟ้า จำนวน 251 ล้านบาท สำหรับไตรมาส 1 ปี 2563 เพิ่มขึ้น 36% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน การดำเนินการของโครงการโรงไฟฟ้า IPP ยังคงมีความมั่นคงตามปกติ ในขณะที่บริษัทได้รับส่วนแบ่งกำไรเพิ่มเข้ามาจากการที่โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ (CCE) เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว

ในส่วนของโครงการ SPP ปัจจุบันบริษัทมีการลงทุนในโครงการ SPP จำนวน 8 แห่ง ที่มีการดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วทั้งหมด ในไตรมาสที่ผ่านมา ปริมาณการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมของโครงการ SPP โดยรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 5%

อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้า SPP จำนวน 2 แห่ง (จากทั้งหมด 8 แห่ง) มีการซ่อมบำรุงตามแผนงาน โดยใช้ระยะเวลาประมาณแห่งละ 15 วัน ประกอบกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) มีการรับไฟฟ้าน้อยลงในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาเนื่องมาจากมีการซ่อมบำรุงสายส่งในพื้นที่ ด้วยปัจจัยทั้งสองดังกล่าวทำให้ปริมาณการขายไฟฟ้ารวมลดลงประมาณ 5%

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าปริมาณการขายไฟฟ้าให้ กฟผ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 75%-80% ของปริมาณขายรวม มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นในไตรมาสถัดไป

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ WHAUP กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านธุรกิจสาธารณูปโภคในประเทศไทยนั้น สภาวะภัยแล้งส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานในระดับหนึ่ง ซึ่งทางภาครัฐได้มีมาตรการต่าง ๆ ออกมาเพื่อบรรเทาภาวะภัยแล้ง โดยในด้านความต้องการใช้น้ำ (demand side) ภาครัฐได้ขอความร่วมมือทุกภาคส่วน รวมถึงภาคอุตสาหกรรม ร่วมมือกันลดการใช้น้ำลง 10% ซึ่งปริมาณการขายน้ำที่ลดลงทำให้กำไรเบื้องต้นลดลงประมาณ 25 ล้านบาทในไตรมาสนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน

ในด้านการจัดหาแหล่งน้ำ (supply side) บริษัทได้ตัดสินใจเร่งการลงทุนในโครงการ Reclaimed Water เพิ่มเติม โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตจาก 10,000 ลูกบาศเมตรต่อวัน ขึ้นมาเป็น 30,200 ลูกบาศเมตรต่อวัน ซึ่งกำลังการผลิตส่วนเพิ่มนี้จะแล้วเสร็จในช่วงเดือน มิถุนายน โดยนอกจากจะทำให้เสริมความมั่นคงในการจัดหาแหล่งน้ำของบริษัทแล้ว ก็ยังจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรอีกด้วย

ทั้งนี้ หลังจากการขยายกำลังการผลิตเสร็จสิ้นจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิต Reclaimed Water ในสัดส่วนประมาณ 15% ของความต้องการใช้น้ำในปัจจุบัน นอกเหนือจากนั้นบริษัทมีมุมมองว่ายอดขายน้ำโดยรวมมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังภายหลังจากที่สถานการณ์ภัยแล้งปรับตัวดีขึ้น

ในส่วนของโครงการ Duong River Water Treatment project ในประเทศเวียดนาม กำลังการผลิตในเฟส 1B จำนวน 150,000 ลูกบาศเมตรต่อวัน ที่พร้อมเริ่มดำเนินการมาในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยยอดขายที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกิดความล่าช้าจากแผนงานอันเนื่องมาจากการล่าช้าในการขยายโครงข่ายท่อจำหน่ายน้ำ โดยส่งผลให้ยังเกิดผลขาดทุนในการดำเนินงานในไตรมาสที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่ายอดขายควรจะกลับมาสู่ในระดับที่วางแผนไว้ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย

นายณัฐพรรษ ตันบุญเอก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ของ WHAUP ได้กล่าวเสริมว่า ด้วยการอ่อนตัวลงของค่าเงินบาทอย่างรวดเร็วประมาณ 2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากช่วงสิ้นปี 2562 ถึงข่วงสิ้นไตรมาส 1ปี 2563 ส่งผลให้ผลการบันทึกเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในธุรกิจไฟฟ้าของเราแสดงผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในงบกำไร-ขาดทุนอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามผลการขาดทุนทางบัญชีดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดที่บริษัทคาดว่าจะได้รับเนื่องจากรายได้ก็จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นและชดเชยกัน

นอกจากนั้น บริษัทพิจารณาว่าผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวไม่เป็นส่วนหนึ่งของกำไรปกติ (Normalized Net Profit) ซึ่งเป็นดัชนีสะท้อนผลกำไรจากการดำเนินการหลักของกลุ่มบริษัท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top