สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลำดับ แตกต่างกับอีกหลายประเทศทั่วโลกที่ยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ศักยภาพด้านสาธารณสุขของไทย กลายเป็นหนึ่งในจุดแข็งเรียกความเชื่อมั่นของนานาประเทศได้เป็นอย่างดี
และอานิสงส์ดังกล่าวเชื่อมโยงเข้ามาสู่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ช่วยกระตุ้นให้กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ต่างชาติต้องเร่งตัดสินใจย้ายฐานการผลิตเข้าสู่ประเทศที่มีความมั่นคงและมีแนวโน้มเติบโตระยะยาว เพื่อกระจายความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้าที่ส่อแววปะทุขึ้นอีกครั้ง และหลีกเลี่ยงการเผชิญผลกระทบโรคระบาด ขณะที่ไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่เนื้อหอมติดเรดาร์ของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ต่างชาติย้ายฐานผลิตเข้ามาในไทยได้แค่ไหน…??
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า จากวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ก่อให้เกิดการเร่งย้ายฐานการผลิตของกลุ่มทุนต่างชาติยักษ์ใหญ่หลายรายให้กระจายฐานการผลิตออกมาจากประเทศจีนรวมถึงประเทศอื่นที่มีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจด้วย
โดยเริ่มเห็นสัญญาณชัดเจนของการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ตั้งแต่เดือน ก.พ. เนื่องจากนักลงทุนเล็งเห็นความไม่แน่นอนของปัจจัยสงครามการค้าและผลกระทบวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการโยกย้ายฐานการผลิตเข้าสู่หลายประเทศในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น
ปัจจุบันไทยเป็นหนึ่งในประเทศอยู่ในความสนใจของกลุ่มนักลงทุน FDI รายใหญ่หลายราย เนื่องจากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ได้ดี ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการย้ายฐานการผลิตเพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ
ทั้งนี้ ประเมินว่าถ้าสถานการณ์ดีขึ้นในครึ่งปีหลังไทยเปิดประเทศสามารถเดินทางเข้าประเทศได้ตามปกติ มีความมั่นใจว่าจะเห็นสัญญาณเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น แต่จะมีความเด่นชัดมากในปี 2564 แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขไทยต้องไม่เกิดการระบาดซ้ำรอบสอง เพราะตามทฤษฎีผลกระทบทางเศรษฐกิจจะรุนแรงกว่าการรอบแรก 3-4 เท่า
“ความเชื่อมั่นด้านสาธารณสุขจะเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่จะทำให้กลุ่มทุนจากต่างชาติเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตมากขึ้น เพราะถ้ารัฐบาลดูแลการแพร่ระบาดไม่ดีก็ต้องโดนปิดประเทศอีก หรือองค์กรที่มีผู้ติดเชื้อก็ต้องปิดกิจการชั่วคราวสร้างความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาล ซึ่งวันนี้ต้องขอแสดงความชื่นชมที่รัฐบาลรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี แม้ว่าระยะสั้นอาจต้องกลืนเลือดกันหน่อย แต่ระยะยาวเชื่อมั่นว่าดีแน่นอน” นางสาวจรีพร กล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมที่กำลังโยกย้ายฐานการผลิตคือกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แม้ว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณตั้งแต่เดือน ต.ค.ปีที่ผ่านมา แต่มีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อการแพร่ระบาดเริ่มต้นที่เมืองอู่ฮั่น ของจีน ซึ่งเป็นเมืองที่มีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์เป็นหลัก เป็นเหตุให้ซัพพลายเชนทั่วโลกต้องเกิดอาการหยุดชะงักชั่วคราว นำมาสู่การเติบโตของตัวเลขส่งออกในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในไตรมาส1/63
“มีความเชื่อมั่นว่าปลายปีนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะเห็นสัญญาณดีขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากงบประมาณกว่า 1.9 ล้านล้านบาทที่นำมาเยียวยาผลกระทบภาวะวิกฤติโควิด-19 แต่ในมุมมองส่วนตัวก็อยากเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพัฒน์ ประเมินผลของการอัดเงินเข้าสู่ระบบว่าจะช่วยกระตุ้น GDP ได้มากน้อยแค่ไหน นอกจากนั้นอยากเห็นรัฐบาลมีแนวทางกระตุ้นความเชื่อมั่นเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต เพราะมองเห็นโอกาสอีกมาก เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ Health Care, Health Tech เป็นต้น นักลงทุนใช้เงินลงทุนจำนวนมากและจะอยู่กับไทยไปอีกยาว 10-20 ปี โดยรัฐบาลอาจต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนเพื่อจูงใจให้นักลงทุนทั่วโลกเข้ามาใช้ไทยเป็นการผลิตและกระจายสินค้าออกไปทั่วโลก”
นางสาวจรีพร กล่าว
ขณะเดียวกัน บริษัทเตรียมความพร้อมทุกด้านและทุกมิติเพื่อรองรับกับดีมานด์ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงถัดไป ยังคงไม่ได้ปรับลดวงเงินตามแผนการลงทุนของบริษัทที่วางไว้ 9,000 ล้านบาท เช่น การนำเทคโนโลยีเข้ามาต่อยอดการให้บริการธุรกิจโลจิสติกส์ได้เพื่อเกิดประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องกับการเติบโตของอุตสาหกรรม E-commerce หลังจากขยายอย่างรวดเร็วมีมูลค่าคิดเป็น 20% ของมูลค่าจีดีพีของไทย ด้านการบริการด้านสาธารณูปโภคเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำและพลังงาน ล่าสุดอยู่ระหว่างเตรียมพร้อมเข้าสู่การเป็นไมโครกริดและสมาร์ทกริด อยู่ระหว่างศึกษาร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เกี่ยวกับการซื้อขายพลังงานไฟฟ้า คาดเห็นความชัดเจนในระยะถัดไป
ด้านธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมภายใต้การบริหารของกลุ่ม WHA ล่าสุดได้เตรียมพร้อมเข้าสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart IE) ด้วยการปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีรองรับกับอุตสาหกรรมยุค 4.0 เพราะหลังจากเกิดโควิด-19 ทำให้ไลน์การผลิตแต่ละอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไป โดยใช้ระบบหุ่นยนต์ (Robot) กันมากขึ้น และอยู่ระหว่างการนำเครือข่าย 5G เข้ามาใช้ในนิคมอุตสาหกรรมของ WHA ทุกแห่งอีกด้วย
นางสาวจรีพร ยอมรับว่า แม้ว่าครึ่งปีแรกยอดขายที่ดินจะหดตัวเพราะลูกค้าไม่สามารถเดินทางเข้ามาในไทยได้ แต่บริษัทยังคงเป้าหมายยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมปีนี้ 1,400 ไร่ แบ่งเป็น ในไทย 1,200 ไร่และเวียดนาม 200 ไร่ แต่อาจจะทบทวนเป้าหมายใหม่ช่วงกลางปีนี้อีกครั้ง ซึ่งในกรณีที่ไทยสามารถรับมือ และผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่ได้รุนแรงอย่างที่คิด เชื่อมั่นว่าแนวโน้มยอดขายที่ดินน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ตามเป้า แต่หากสถานการณ์เศรษฐกิจครึ่งปีแรกไม่ได้ฟื้นตัวอย่างที่คาดอาจต้องมาทบทวนปรับลดประมาณการลงจากเดิม
“วันนี้จะเกิดโควิด-19 แต่เราก็มีการเจรจากับลูกค้ารายใหม่และรายเดิมที่รอเซ็นสัญญาซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ยกตัวอย่างมีลูกค้ารายหนึ่งเซ็น MOU กับเราเมื่อปลายปีที่แล้วจำนวนกว่า 100 ไร่เดิมต้องเซ็นซื้อขายที่ดินกันในเดือน มี.ค. ลูกค้าเดินทางเข้ามาจดทะเบียนบริษัทไม่ได้ ทำให้ต้องเลื่อนเซ็นสัญญากันไปเป็นเดือน มิ.ย. แม้ว่าสถานการณ์ยังไม่ปกติ แต่วันนี้ก็ยังไม่มีลูกค้ารายใดยกเลิกสัญญาซื้อขายที่ดินกับบริษัท”
นางสาวจรีพร กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ค. 63)
Tags: WHA, จรีพร จารุกรสกุล, ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น, หุ้นไทย