ออมสินรับโควิดดันยอด NPL เพิ่ม 6-7 พันลบ. ลุยปล่อยซอฟท์โลนแล้วกว่าแสนลบ.

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า จากมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสิ้นสุดในอีก 5 เดือนข้างหน้า (สิ้นสุด ต.ค.63) ทำให้มีโอกาสที่ตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของธนาคาร ณ สิ้นปีนี้จะเพิ่มมาอยู่ในกรอบเพดาน 3.5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.2% หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นประมาณ 6-7 พันล้านบาท และเพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 62 ที่อยู่ในระดับ 2.6%

โดยในระหว่างนี้ธนาคารมีแนวทางเร่งแก้หนี้ให้กับลูกค้าเพื่อลดตัวเลข NPLs รองรับการเพิ่มขึ้นอีกครั้งช่วงปลายปีนี้ อาจมีผลกระทบแนวโน้มกำไรธนาคารปีนี้ลดลงมาเหลือกว่า 1 หมื่นล้านบาทจากภาวะปกติมีกำไรมากกว่า 2-3 หมื่นล้านบาท

แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มดีขึ้นรัฐบาลทยอยคลายล็อกดาวน์ประเทศ แต่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอาจต้องใช้ระยะเวลากว่าจะเข้าสู่การฟื้นตัวแบบชัดเจนอีกครั้ง ทำให้ผู้ประกอบการตั้งแต่รายเล็กไปจนถึงรายใหญ่ อาจจะยังไม่มีรายได้กลับมาเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังมีแนวทางออกมาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งได้รวบรวมมาตรการหนึ่งในนั้นมีสินเชื่อธนาคารออมสินเข้าไปร่วมโครงการนี้ด้วย

“ระหว่างนี้อยากให้ผู้ประกอบการรายเล็กไปถึงรายใหญ่ต้องมุ่งเน้นวางแผนการเงิน เพราะเศรษฐกิจยังไม่ได้กลับมาเต็มร้อย ต้องเตรียมเงินสำรองและออมเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉินเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อรองรับหากเกิดวิกฤติขึ้นอีกในอนาคต” นายชาติชาย กล่าว

นายชาติชาย กล่าวต่อว่า ด้วยภารกิจหลักในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบตามมาตรการของรัฐบาล ลงพื้นที่ตรวจสอบสิทธิ์ของผู้ลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินเยียวยาในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” การดูแลลูกค้าของธนาคารฯ ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยโดยอัตโนมัติเป็นระยะเวลา 6 เดือน จนถึงสิ้นเดือน ต.ค.63 มีผู้ที่ได้รับประโยชน์ ทั้งลูกค้ารายย่อยและลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท รวม 3.10 ล้านราย วงเงินรวม 1.14 ล้านล้านบาท

การให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ลูกค้าและประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบด้วย สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) วงเงินกู้สูงสุด 10,000 บาท และ สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) วงเงินกู้สูงสุด 50,000 บาท ซึ่งมีผู้ยื่นกู้มากถึง 3,023,168 ราย ในช่วงเวลาเพียง 2 เดือน จากปกติที่จำนวนรวมยอดผู้ยื่นกู้นี้จะต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี โดยธนาคารฯ ได้อนุมัติไปแล้วเกือบ 600,000 ราย

นอกจากนี้ ธนาคารออมสิน ยังจัดการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟท์โลน แก่สถาบันการเงิน นอนแบงก์ ตลอดจนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของธนาคารออมสิน วงเงิน 150,000 ล้านบาท ได้มีผู้ยื่นกู้แล้ว 13,093 ราย วงเงินรวม 161,628 ล้านบาท ปัจจุบันได้อนุมัติแล้ว 108,960 ล้านบาท คงเหลือวงเงินที่กำลังทยอยอนุมัติอีก 41,040 ล้านบาท คาดว่าภายในเดือนมิถุนายน 2563 จะสามารถอนุมัติได้ทั้งหมด

จากสถานการณ์ดังกล่าวที่ธนาคารออมสินมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือตามมาตรการของรัฐบาล ทำให้ผลการดำเนินงาน 5 เดือนแรกปี 63 (1 ม.ค.-31 พ.ค.63) นั้น มีเงินให้สินเชื่ออยู่ที่ 2,158,364 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 62 จำนวน 5,646 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 5,039 ล้านบาท สูงกว่าแผนปี 63 ส่วนสำคัญมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 19,552 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ จำนวน 1,892 ล้านบาท และรายได้อื่นอีก 2,313 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการปรับเปลี่ยนแผนงานให้เข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดและการบริหารสภาพคล่องที่มีประสิทธิภาพตามสถานการณ์

ทั้งนี้ ธนาคารมีเงินรับฝาก 2,478,531 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 62 จำนวน 65,597 ล้านบาท ขณะที่สินทรัพย์รวมอยู่ที่ 2,877,501 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 62 จำนวน 80,433 ล้านบาท

นายชาติชาย กล่าวอีกว่า ในโอกาสครบวาระการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารคนที่ 16 ในเดือนมิ.ย.63 นี้ ยังมุ่งหวังจะเห็นธนาคารออมสินเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มั่นคงและยั่งยืน อยู่เคียงคู่กับประเทศไทยและประชาชนชาวไทยตลอดไปอย่างสง่างาม โดยกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนธนาคารออมสินที่จะส่งต่อให้ผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนใหม่ที่จะมารับช่วงการบริหารธนาคารออมสินในช่วงต่อไปนั้น จำเป็นต้องผลักดันการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ 3 Banking ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ (Business Model) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ จากที่วันนี้มีลูกค้าไปใช้บริการสาขาน้อยลงและหันไปใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ในขณะที่ธนาคารออมสินมีจำนวนสาขาและบุคลากรจำนวนมากส่งผลต่อต้นทุนในการบริหารจัดการสูง ทำให้ต้องเร่งหารายได้ใหม่ๆ จากช่องทางสาขาและบุคลากรที่มี ลดต้นทุนการให้บริการหน้าสาขา ผลักดันลูกค้าให้ใช้ช่องทางดิจิทัลให้มากขึ้น และการเร่งสร้างแหล่งรายได้และผลตอบแทนจากการขยายสินเชื่อที่มีผลตอบแทนสูง มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อปรับโครงสร้าง portfolio ของธนาคารฯ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 มิ.ย. 63)

Tags: , , ,
Back to Top