ธปท.สั่งแบงก์พาณิชย์ทำ Stress Test หลังเผชิญโควิดส่ง ก.ค.นี้

ชี้ยังเร็วไปประเมินต้องเพิ่มทุนหรือไม่

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้สั่งการให้สถาบันการเงิน ประเมินและจัดทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุนในระยะ 1-3 ปีข้างหน้า โดยพิจารณาจากแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต ตลอดจนศักยภาพของลูกหนี้ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง โดยแต่ละสถาบันการเงินจะต้องส่งแผนดังกล่าวให้ ธปท.ภายในสิ้นเดือนก.ค.นี้

อย่างไรก็ดี แม้ว่ามาตรฐานระดับเงินกองทุนของสถาบันการเงินจะต้องไม่ต่ำกว่า 8.5% แต่ ธปท.จะไม่ปล่อยให้เงินกองทุนอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไป โดยหากระดับเงินกองทุนลงมาเหลืออยู่ที่ระดับ 11.5-12.5% จะต้องมีการหารือร่วมกัน เพื่อหาแนวทางบริหารจัดการเงินกองทุน ขณะที่ปัจจุบันระดับเงินกองทุนอยู่ที่ระดับ 18.7%

“วันนี้ ระดับเงินกองทุนอยู่ที่ 18.7% เชื่อว่าจะผ่านเหตุการณ์ไปได้ คงไม่ถึงขนาดธนาคารจะต้องเพิ่มทุนในอนาคต และเชื่อว่าจากการออกมาตรการดังกล่าว การดูแลลูกหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ คงไม่ทำให้เกิดหนี้เสียสูงถึง 50% หรือหากเกิดเหตุรุนแรง คงไม่ปล่อยให้ระดับเงินกองทุนลดต่ำกว่ามาตรฐานแน่นอน” นายรณดล กล่าว

ส่วนแนวทางการเพิ่มทุนนั้น มองว่ายังเร็วเกินไปที่จะประเมิน แต่หากจะเพิ่มระดับเงินกองทุนก็มีหลายแนวทาง เช่น การออกหุ้นกู้ การงดการจ่ายปันผลระหว่างกาล ซึ่งทำให้มีกำไรสะสมมากขึ้นที่จะไปเพิ่มในเงินกองทุนได้

นายรณดล กล่าวอีกว่า ณ วันนี้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง และน่าจะเพียงพอรองรับหนี้เสียได้ในระดับหนึ่ง แต่ในภาวะที่เกิดความไม่แน่นอนในช่วงที่ผ่านมา การประเมินสถานการณ์ที่ ธปท. ใช้ประเมินกองทุนก็อยู่ในสมมติฐานก่อนเกิดโควิด 19 สิ่งที่ต้องการเห็นต่อจากนี้คือ การประเมินเงินกองทุนภายใต้ภาวะโควิด 19 เพื่อจะดูว่ามีเงินกองทุนพอรองรับความไม่แน่นอนนั้นมากน้อยแค่ไหน

ยิ่งมีเงินกองทุนที่เปรียบเหมือนภูมิคุ้มกัน ยิ่งมีเงินกองทุนมาก ก็เหมือนมีการฉีดวัคซีนภูมิคุ้มกันให้สถาบันการเงินมาก ยิ่งทำให้สถาบันการเงินมีความเข้มแข็งเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายหลังโควิด 19 และรองรับความไม่แน่นอน มีระดับเงินกองทุนที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นกับนักลงทุน ผู้ถือหุ้น และผู้ฝากเงิน เป็นแนวทางในระยะยาวของสถาบันการเงิน ระดับเงินกองทุนเป็นหัวใจสำคัญในการปล่อยสินเชื่อในอนาคต ถ้ามีระดับเงินกองทุนมาก ก็สามารถปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้นด้วย รวมทั้งการป้องกันที่เกิดจากความไม่แน่นอน เช่น การกันสำรองเพิ่มขึ้นจากหนี้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท. มุ่งเน้นทำมาตรการป้องกันมากกว่าแก้ไข ถ้ามีการป้องกัน (pre-emptive) ไว้ล่วงหน้าจะเป็นการช่วยสถาบันการเงินและเศรษฐกิจในระยะยาว

นายรณดล ยังชี้แจงถึงการให้งดจ่ายเงินปันผลนั้น จะต้องพยายามอธิบายให้นักลงทุนและผู้ฝากเงินทราบว่า ธปท.มุ่งหวังให้เสริมสร้างสภาพคล่องและเงินกองทุนให้ธนาคารในระยะยาว จะเป็นผลดีต่อสถาบันการเงินให้เติบโตอย่างยั่งยืน มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งขึ้นต่อความไม่แน่นอนจากโควิด 19 ถ้านักลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจจุดประสงค์ของ ธปท.และสมาคมธนาคารไทย เห็นภาพว่าถ้าออกเป็นนโยบายกลาง มีทิศทางเดียวกัน แทนที่สถาบันการเงินจะดำเนินนโยบายของแต่ละแห่ง ซึ่งจะทำให้เกิดคำถามถึงความแตกต่างกัน

ส่วนหากสถานการณ์โควิด-19 ไม่ดีขึ้น มีโอกาสที่สถาบันการเงินตะต้องงดจ่ายเงินปันผลทั้งปีหรือไม่นั้น นายรณดล กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้เพราะตอนนี้ที่เห็นชัดคือ เงินปันผลระหว่างกาลเป็นการจ่ายนอกรอบระยะเวลาบัญชี โดยไม่ได้รอคำนวณผลประกอบการทั้งปี สิ่งเห็นชัดคือ อย่าเพิ่งจ่ายเงินปันผลเฉพาะกาล แต่ควรมาประเมินกองทุนก่อนว่าเป็นอย่างไร และคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่ง ธปท.ให้ความสำคัญกับฐานะการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ ไม่เพียงเฉพาะผู้ลงทุน แต่เงินฝากของประชาชนก็เป็นสิ่งที่ต้องดูแล

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มิ.ย. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top