TMBAM เผย ก.ล.ต.ไฟเขียวยืดเวลาชำระบัญชี 4 กองตราสารหนี้เป็น 7 ต.ค.

นายบุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการบริหาร บลจ.ทหารไทย (TMBAM Eastspring) และกรรมการผู้จัดการ บลจ.ธนชาต กล่าวว่า การจ่ายเงินคืนผู้ถือหน่วยลงทุนภายหลังจากปิดกองทุนตราสารหนี้ 4 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดทหารไทย ธนพลัส (TMBTHANAPLUS), กองทุนเปิดทหารไทย ธนไพศาล (TMBBF), กองทุนเปิดทหารไทย ธนเพิ่มพูน (TMBUSB) และกองทุนเปิดทหารไทย ธนไพบูลย์ (TMBABF)

เมื่อช่วงปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ TMBAM Eastsping ได้ดำเนินการจ่ายเงินคืนให้ผู้ถือหน่วยลงทุนไปแล้วกว่า 68,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 34-55% ของสินทรัพย์ในแต่ละกองทุน ขณะที่ยังคงเหลือสินทรัพย์รวมกันเกินกว่า 80,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการรัษาผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน และดำเนินการขายสินทรัพย์ให้ได้ราคาที่เหมาะสม บริษัทจึงได้ขอยืดกรอบระยะเวลาการจ่ายเงินคืนออกไปอีก 90 วัน โดยได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จากเดิมครบกำหนดวันชำระบัญชีในวันที่ 9 ก.ค.63 เป็นวันที่ 7 ต.ค.63 ซึ่งตั้งแต่การยกเลิกคำสั่งซื้อขาย ตลอดจนระยะเวลาการชำระบัญชีทาง TMBAM Eastsping จะไม่มีการคิดค่าบริหารจัดการกองทุน (Management Fee) อีกทั้งเพื่อให้มั่นใจว่าการขายทรัพย์สินจะเป็นไปอย่างเรียบร้อยและรักษามูลค่าให้กับผู้ลงทุน

สำหรับวัตถุประสงค์ขอการยกเลิกกองทุนตราสารหนี้ทั้ง 4 กองทุนดังกล่าว เป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้ราคาซื้อขายเกิดส่วนต่างอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รวมถึงการไถ่ถอนกองทุนที่สูงผิดปกติ

“ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เราได้เห็นการไหลออกของเงินในตลาดตราสารหนี้เกิดใหม่มากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งคิดเป็นกว่า 10% ของมูลค่ทรัพย์สินสุทธิที่อยู่ภายใต้การจัดการ (AUM) ทั่วโลก รวมถึงราคาตราสารหนี้เอกชนปรับตัวลดลงอย่างมาก นับเป็นความผันผวนรุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้เราต้องทำการตัดสินใจระงับคำสั่งธุรกรรมและยกเลิกกองทุนตราสารหนี้ทั้ง 4 กองทุน เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้ถือหน่วยลงทุน ก่อนที่ราคาซื้อขายจะปรับลงไปมาก”

นายบุญชัย กล่าว

นายบุญชัย กล่าวว่า ตั้งแต่วันทำการซื้อขายสุดท้ายของกองทุนจนถึงปัจจุบัน TMBAM Eastsping สามารถรักษามูลค่าทรัพย์สินที่ลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุนในวันทำการสุดท้ายให้ได้ใกล้เคียงกับมูลค่าเดิม โดยมั่นใจว่าการตัดสินใจยกเลิกกองทุนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้าและผู้ถือหน่วยลงทุน

พร้อมกันนี้มูลค่าที่ได้รับจากการขายสินทรัพย์ของกองทุนทั้ง 4 กองทุนดังกล่าว นับว่าสูงกว่ามูลค่าสินทรัพย์ที่ถือครองในวันทำการซื้อขายสุดท้ายเฉลี่ยประมาณ 0.09% โดย ณ วันที่ 26 มิ.ย. มูลค่า NAV ประมาณการของสินทรัพย์ที่เหลือรวมกับยอดที่ได้ชำระคืนของ 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดทหารไทย ธนพลัส ธนไพศาล และธนใพบูลย์ ยังคงสูงกว่ามูลค่า NAV ในวันทำการซื้อขายสุดท้าย ในขณะที่มูลค่า NAV ประมาณการรวมกับจำนวนที่ชำระคืนของกองทุนเปิดทหารไทย ธนเพิ่มพูน นั้น มีมูลค่าลดลงเล็กน้อยประมาณ 0.5%

นายบุญชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การยกเลิกกองทุนดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อกองทุนอื่นภายใต้การบริหารจัดการของ TMBAM Eastspring และขอยืนยันอีกครั้งว่าสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้กองทุนตราสารหนี้ทั้งหมด ไม่มีการผิดนัดชำระหนี้แต่อย่างใด และสินทรัพย์ทั้งหมดของกองทุนมีคุณภาพอยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grades) การตัดสินใจที่เกิดขึ้นนั้น เพื่อให้การขายสินทรัพย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาผลประโยชที่ดีที่สุดเพื่อผู้ถือหน่วยลงทุน

ด้านนายพิพัฒน์ พิศณุวงรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายจัดการลงทุน TMBAM Eastspring กล่าวว่า สำหรับมุมมองตลาดตราสารหนี้ในระยะต่อไป คาดว่าเศรษฐกิจและภาพรวมการลงทุนจะฟื้นตัวดีขึ้น เป็นไปตามสถานการณ์โควิด-19 ในไทยที่ฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งล่าสุดก็มีการคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 5 ทำให้ภาพรวมต่า งๆ น่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามก็ขึ้นกับสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศด้วย เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังอิงกับการท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่

ขณะที่ภาพรวมตลาดสารหนี้คาดจะปรับตัวดีขึ้น จากนโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง ของประเทศต่าง ๆ ที่ได้เข้าแทรกแซงตลาดพันธบัตรและตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน อาทิ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ประการใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) แบบไม่จำกัด พร้อมกับเข้าซื้อสินทรัพย์ในตลาดอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ตลาดตราสารหนี้กลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากรัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือภาคเอกชนให้มีต้นทุนในการกู้ยืมเงินอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ความเสี่ยงจากการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาตราสารหนี้มีน้อย

อีกทั้งคำแถลงของคณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ ครั้งล่าสุดในวันที่ 9-10 มิ.ย. 63 ที่ผ่านมา ซึ่งมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00-0.25% รวมถึงยังส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0% ไปจนถึงปี 65 ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้แนวโน้มของดอกเบี้ยมีโอกาสคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในสหรัฐ และทั่วโลก จึงคาดการณ์ว่าแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐและประเทศอื่น ๆ มีโอกาสที่จะยังคงอยู่ในระดับต่ำไปอีกต่อเนื่องอย่างน้อยจนถึงต้นปี 64

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ค. 63)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top