เปิดนำเข้าข้าวตามกรอบ AFTA เฉพาะแปรรูป พณ.ยันไม่กระทบค้าข้าวในประเทศ

วอนเกษตรกรไม่ต้องกังวล

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรณีที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ได้เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารการนำเข้าข้าวภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน เพื่อให้เป็นไปตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ที่ไทยจะต้องเปิดตลาดนำเข้าข้าวตั้งแต่ปี 2553 โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการฯ ได้ประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการเปิดตลาดและได้ยกร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ

โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการขั้นตอน หลักเกณฑ์ เงื่อนไขในการนำเข้าข้าวภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน

โดยประกาศฉบับนี้ได้ผ่านการกลั่นกรองจากคณะอนุกรรมการข้างต้นซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจากภาครัฐ เช่น กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงการคลัง กรมศุลกากร กรมโรงงานอุตสาหกรรม และภาคเอกชน เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย รวมทั้งตัวแทนเกษตรกร เช่น สมาคมชาวนาข้าวไทย และสมาคมส่งเสริมชาวนาไทย เป็นต้น

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ขอให้เกษตรกรคลายความกังวลเนื่องจากการนำเข้าข้าวดังกล่าวนั้นจะต้องนำมาแปรรูปในกิจการของตนเองเท่านั้น มิใช่อนุญาตให้นำข้าวสารเข้ามาขายต่อเป็นเมล็ดอย่างที่กังวล โดยการนำเข้าข้าวภายใต้ AFTA ต้องได้รับอนุญาตจากคณะอนุกรรมการฯ ก่อนจึงจะนำเข้าได้ และจะอนุญาตให้นำเข้ามาเพื่อแปรรูปในอุตสาหกรรมอาหารเท่านั้น โดยไม่รวมถึงการสีข้าวของโรงสี เช่น นำมาทำเส้นก๋วยเตี๋ยว ทำแป้งข้าวเจ้า เป็นต้น

รวมทั้งกำหนดช่วงเวลานำเข้าไม่ให้ตรงกับช่วงเวลาที่ผลผลิตข้าวในประเทศออกด้วย ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในประกาศฯ ไม่ใช่ใครก็สามารถนำเข้าได้ รวมทั้งยังมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากคณะอนุกรรมการฯ ทั้งก่อนการนำเข้าและตรวจสอบว่านำเข้ามาใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ขออนุญาตแปรรูปไว้อย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าข้าว อาทิ พระราชบัญญัติกักพืชของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมศุลกากรจะเป็นผู้กำกับดูแลการนำเข้าข้าวอย่างเข้มงวดโดยปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน

ทั้งนี้ การนำเข้าข้าวของไทยที่ผ่านมาเป็นการนำเข้าภายใต้กรอบ WTO ซึ่งเก็บภาษีนำเข้าในโควตาร้อยละ 30 และนอกโควตาร้อยละ 52 ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าข้าวที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศไทย เช่น ข้าวญี่ปุ่น (เมล็ดสั้น) ข้าวบาสมาติจากอินเดีย เพื่อใช้ในธุรกิจร้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งการนำเข้าข้าวมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับการค้าข้าวภายในประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top