BM จุดพลุรายได้ปี 63 ทะลุพันล้านครั้งแรกในรอบ 25 ปี

คลิปสัมภาษณ์ BM เจาะลึกโอกาสชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าปี 63 ลุ้นรายได้โตทุบสถิติพันล้านครั้งแรกในรอบ 25 ปี

บมจ.บางกอกชีทเม็ททัล (BM) วางเป้าปี 63 ผลประกอบการโดยรวมจะเติบโตทำสถิติสูงสุดใหม่ โดยรายได้จะเติบโตสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 40% หรือมาอยู่ที่ 1,200-1,300 ล้านบาท หลังจากปี 62 รายได้พลาดจากที่เคยตั้งเป้าหมายทะลุ 1 พันล้านบาทเป็นครั้งแรก แต่กลับได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจทำให้บริษัทต้องปรับลดเป้าลงมาเหลือกว่า 900 ล้านบาทใกล้เคียงกับรายได้ในปี 61

นายธีรวัต อมรธาตรี กรรมการผู้จัดการ BM เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์”ว่า เส้นทางในสายอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนโลหะกว่า 25 ปีของ BM จุดเริ่มต้นเกิดจากการรวมตัวของเพื่อนวิศวกรมืออาชีพเมื่อปี 38 ก่อนจะพัฒนาธุรกิจมาอย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จก้าวสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เมื่อปี 58

ปัจจุบัน BM มีสถานะเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าแปรรูปผลิตภัณฑ์เหล็กภายใต้ 6 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.งานรางและท่อร้อยสายไฟ 2.งานเปลือกตู้ 3.งานตู้สวิตช์บอร์ด 4.งานเชื่อมประกอบ 5.เครื่องจักรมือและเครื่องมือจักรกล และ6.งานชิ้นส่วน และกลุ่มธุรกิจใหม่ คือ ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า และผลิตจำหน่ายรถสามล้อไฟฟ้า (ตุ๊กตุ๊ก) ภายใต้แบรนด์ของ BM ชื่อ “ว่องไว”

นายธีรวัต เชื่อมั่นว่าผลประกอบการปีนี้จะเติบโตได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากยอดขายในหมวดสินค้าแปรรูปผลิตภัณฑ์เหล็กยังคงมีความต้องการจากลูกค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้รับเหมาฯ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ รวมถึงแผนขยายท่าอากาศยานภายในประเทศ ล่าสุดได้รับงานจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงในส่วนสถานีหลัก ซึ่งได้ซัพพลายงานให้กับพันธมิตรสัญชาติญี่ปุ่น

นายธีรวัต อมรธาตรี กรรมการผู้จัดการ BM

ส่วนธุรกิจ B2B ปัจจุบันบริษัทเปิดตัวสินค้าใหม่เฟอร์นิเจอร์เหล็กเพื่อส่งออกไปยังประเทศสหรัฐฯ ในปีนี้คาดว่าจะมียอดขายคิดเป็นสัดส่วนกว่า 10% ของรายได้รวม โดยมองว่ายังมีโอกาสการขยายตลาดในสหรัฐฯอีกมาก เพราะผลจากสงครามการค้า การตั้งกำแพงภาษีต่าง ๆ ทำให้ผู้นำเข้าในสหรัฐต้องหันมาใช้ฐานการผลิตในไทยแทนการฐานผลิตในจีนเป็นหลักเหมือนในอดีต และในอนาคตผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะขยายตลาดเข้าไปสู่ลูกค้ากลุ่มครัวเรือน ขณะที่สินค้าตู้สื่อสารที่ปรับปรุงประสิทธิภาพการนำโลหะมาประกอบเป็นตู้สะสมพลังงาน อาทิ Energy storage ,Energy server เป็นต้น มองว่ามีโอกาสเติบโตอีกมากเพราะเป็นเทรนด์ของการใช้พลังงานในอนาคต

ส่วนธุรกิจใหม่การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้านั้น ปัจจุบันบริษัทได้ผลิตชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ไฟฟ้าให้กับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทยรายหนึ่ง คาดว่าจะสามารถส่งมอบได้ทันภายในเดือน ม.ค.นี้ ส่วนงานผลิตชิ้นส่วนให้กับคูโบต้า อาทิ รถเกี่ยวข้าว, รถตัดอ้อย ก็ยังมีความต้องการเข้ามาต่อเนื่อง

ด้านธุรกิจผลิตและจำหน่ายรถสามล้อไฟฟ้า (ตุ๊กตุ๊ก) ปัจจุบันผลิตได้ 2 คันต่อวัน แต่ถ้ามีความต้องการมากขึ้นก็อาจพิจารณาขยายการผลิตเพิ่มเติม ในปีนี้บริษัทมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการจดทะเบียน แม้ว่าที่ผ่านมายังมีจำนวนขายไม่มาก แต่ในอนาคตบริษัทมีแผนยกระดับให้ได้มาตราฐานสากลเพื่อขยายตลาดกว้างขึ้น จากปัจจุบันขยายกลุ่มลูกค้าที่ต้องการใช้ขนส่งสินค้าในโรงงาน ,หมู่บ้านจัดสรร และรีสอร์ท เป็นต้น โดยรถสามล้อไฟฟ้ากำหนดราคาตั้งแต่ 69,000 บาท จนถึงราคา 120,000 บาทมีลูกค้าแสดงความสนใจจำนวนมากเชื่อว่าจะเป็นอีกธุรกิจที่สร้างการเติบโตให้กับบริษัทในอนาคต

“รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าถ้าผลิต 2-3 คันต่อวันคงไม่ได้เป็นปัญหา แต่ถ้าจะผลิตเป็นร้อยคันจำเป็นต้องตั้งไลน์ผลิต ต้องวางแนวทางเรื่องคุณภาพหลังการขาย ซึ่งปัจจุบันบริษัทศึกษาโครงสร้างผ่านการขายดีลเลอร์บ้างแล้ว เป็นลักษณะเดียวกับรถยนต์ทั่วไป แม้ว่าทุกคนจะมองเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่เราก็จะมองให้ครบทุกมิติ แต่เราคงไม่ไปทำแข่งกับ Tesla ตลาดที่เรายืนอยู่นี้ก็มีมูลค่ามหาศาลเหมือนกัน สิ่งสำคัญคือบริษัทตอบโจทย์ลูกค้าได้ ยังมีกลุ่มลูกค้าเกี่ยวกับเกษตรกรรมเป็นช่องว่างให้เรา หรือ Food Truck ที่ผ่านมาก็มีคนเข้ามาคุยกับเรามากในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าประเภทนี้” นายธีรวัต กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ม.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top