ADVANC ตั้งงบลงทุนปี 63 ราว 3.5 หมื่นลบ.ขยายโครงข่าย 4G-5G-เน็ตบ้าน

บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่าในปี 63 บริษัทตั้งงบลงทุนโครงข่าย 4G,5G และอินเทอร์เน็ตบ้าน ประมาณ 35,000 ล้านบาท (ไม่รวมค่าคลื่นความถี่)

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส

พร้อมคาดการณ์แนวโน้มรายได้หลักในการให้บริการ ในปีนี้ ลดลงในอัตราเลขตัวเดียวระดับต่ำ และกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ลดลงในอัตราเลขตัวเดียวระดับต่ำเช่นเดียวกัน

ADVANC ระบุว่าแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยจะเริ่มคลี่คลายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เริ่มฟื้นตัว แต่แนวโน้มธุรกิจในครึ่งหลังของปี 63 ยังมีความไม่แน่นอน ทั้งจากอัตราการว่างงานที่อาจเพิ่มสูงขึ้น การหดตัวของภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการปิดประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลต่อแนวโน้มของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและรายได้จากการให้บริการของบริษัท

ดังนั้น เอไอเอสจึงให้ความสำคัญกับการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจ และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในกระบวนการเพื่อลดผลกระทบจากการลดลงของรายได้ของบริษัท

สำหรับธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัทคาดการณ์ว่ารายได้จะเริ่มฟื้นตัวในครึ่งหลังของปี 63 แต่ยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนตัวและการแข่งขันด้านราคาในตลาด อย่างไรก็ตาม เอไอเอสยังคงขยายช่องการจัดจำหน่ายทางดิจิทัลต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโตของพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ปรับใช้เครื่องมือดิจิทัลมากขึ้นในสภาวะใหม่ (New Normal) และแม้จะเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงในตลาด

บริษัทยังคาดว่ารายได้ของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่จะหดตัวในอัตราเลขตัวเดียวระดับต่ำ (Low-single digit) เทียบการคาดการณ์ GDP -7% ถึง -8% และมุ่งเน้นที่จะคงความสามารถในการแข่งขันด้วยการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเชิงรายได้ในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่

ในขณะที่ธุรกิจเอไอเอส ไฟเบอร์ หรืออินเทอร์เน็ตบ้านได้รับผลบวกจากกระแสการทำงานจากบ้านในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และคาดว่าจะยังคงเติบโตต่อเนื่อง ในครึ่งหลังของปีไปสู่เป้าหมายผู้ใช้บริการ 1.35 ล้านรายภายในปี 63 อย่างไรก็ตาม ARPU ยังคงได้รับผลกระทบจากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงด้วยแพ็คเกจราคาต่ำ เอไอเอสจึงให้ความสำคัญในการขยายตลาดจากฐานลูกค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเอไอเอส โดยให้บริการแพ็คเกจแบบรวม

ซึ่งประกอบด้วย อินเทอร์เน็ตบ้าน บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และดิจิทัลคอนเทนท์ เพื่อเพิ่มรายได้ค่าบริการเฉลี่ยต่อครัวเรือน (ARPH) นอกจากนี้ยังนำเสนอสินค้าและบริการซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มอื่นๆ เพื่อรักษาระดับราคาเหนือคู่แข่ง และหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาเพียงด้านเดียว

ธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรยังคงเติบโตตามกระแสดิจิทัลจากความต้องการที่สูงขึ้นขององค์กรซึ่งต้องการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่กระบวนการดิจิทัล ซึ่งธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรส่วนที่ไม่ใช่บริการโทรศัพท์ (Enterprise non-mobile) มีสัดส่วนประมาณ 3% ของรายได้หลักในการให้บริการ และคาดว่าจะเติบโตในอัตราเลขสองหลักในปี 63 เ

ขณะเดียวกันเอไอเอส จะมุ่งเน้นการบริหารจัดการต้นทุนอย่างต่อเนื่อง และลงทุนเพื่อการเติบโตในเชิงกลยุทธ์ เพื่อรักษากระแสเงินสดจากการดำเนินงานและความสามารถในการทำกำไร เอไอเอสให้ความสำคัญในการบริหารจัดการต้นทุนทั้งต้นทุนการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร และคาดการณ์ว่า EBITDA จะหดตัวในอัตราเลขตัวเดียวระดับต่ำ

อย่างไรก็ตามเอไอเอส ยังลงทุนเพื่อขยายโครงข่าย 4G และ 5G รวมถึงธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน คงความเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมในระยะยาวด้วยงบลงทุนประมาณ 35,000 ล้านบาท ซึ่งได้ปรับลดลงจาก 35,000-40,000 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพตลาดที่การบริโภคยังคงอ่อนตัว

แต่ยังคงเป้าหมายการขยายพื้นที่ให้บริการ 5G ให้ครอบคลุม 13% ของประชากร และ 50% ของประชากรในพื้นที่กรุงเทพฯภายในปี 63 โดยการลงทุนบนคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ด้วยอุปกรณ์โครงข่ายแบบผสมผสานเทคโนโลยี (Multi-technology) ที่รองรับบริการทั้ง 4G และ 5G บนอุปกรณ์ชุดเดียวกัน จะช่วยรองรับความต้องการใช้งานดาต้าที่สูงขึ้น และยังช่วยขยายบริการ 5G สำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง โดยบริษัทจะยังคงสามารถสร้างกระแสเงินสดเป็นบวกหลังหักค่าใช้จ่ายในการลงทุน

เอไอเอสยังให้ความสำคัญต่อการรักษาสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่งและมีความคล่องตัวเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต นโยบายการจ่ายเงินปันผลจะจ่ายไม่ต่ำกว่า 70% ของกำไรสุทธิ โดยนโยบายการจ่ายเงินปันผลนี้จะทำให้เอไอเอสมีกระแสเงินสดเพื่อเพิ่มความคล่องตัวทางการเงินซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเป็นผู้นำตลาด ความสามารถในการแข่งขัน และโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ รวมถึงพร้อมรับต่อสภาวะการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลง

เอไอเอสยังคงการจ่ายเงินปันผลปีละสองครั้งจากผลการดำเนินงานบริษัทและกำไรสะสมบนงบการเงินเฉพาะกิจการ ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลในทุกกรณี จะขึ้นอยู่กับกระแสเงินสดและแผนการลงทุน รวมถึงความจำเป็นและความเหมาะสมอื่นๆ ในอนาคตของบริษัทและ/หรือบริษัทย่อย และการจ่ายเงินปันผลดังกล่าวจะต้องไม่เกินกำไรสะสมที่ปรากฏในงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทและ/หรือมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินงานปกติของบริษัทและบริษัทย่อย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ส.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top