PODCAST: ย้ำ!! นักลงทุนเข้าโหมดรัดเข็มขัด จับตา GDP ถดถอย-ศึกชิงเจ้าเทคฯโลกระอุ

“Weekly Highlight” สัปดาห์นี้ (17-21 ส.ค.) เจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 17 สิงหาคม 2563

เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (10-14 ส.ค.) SET INDEX ปิดที่ระดับ 1,327.05 จุด เพิ่มขึ้น 0.20% จากสัปดาห์ก่อน โดยกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มขนส่งโลจิสติกส์ เพิ่มขึ้น 7.3% รองลงมาคือกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เพิ่มขึ้น 4.3% และสุดท้ายคือกลุ่มบันเทิง เพิ่มขึ้น 3.9%

บรรยากาศการลงทุนช่วงกลางเดือนสิงหาคม ดูเหมือนว่านักลงทุนทั่วโลกจะเริ่มกลับเข้าสู่โหมดเฝ้าระวังตัวกันมากขึ้น หลังจากหลายปัจจัยเสี่ยงกำลังส่งสัญญาณยกระดับความตึงเครียด โดยเฉพาะประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีน ที่ล่าสุดมีกระแสข่าวเกี่ยวกับเลื่อนวันทบทวนข้อตกลงการค้าฉบับแรกออกไปแบบไม่มีกำหนด จากเดิมที่เคยคาดการณ์กันว่าจะหารือกันช่วงกลางสิงหาคมนี้

ชนวนของความขัดแย้งครั้งล่าสุดของ 2 ประเทศมหาอำนาจคือการช่วงชิงความเป็นหนึ่งด้านเทคโนโลยี จึงเป็นที่มาคำสั่งของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศแบนแอปพลิเคชันสัญชาติจีนอย่าง TikTok และ WeChat มิให้ดำเนินการในสหรัฐ นอกจากนี้ ยังมีมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญต่างชาติหลายราย ก็เริ่มวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติจีนรายอื่นว่า อาจมีสิทธิโดนแบนเป็นรายต่อไปหรือไม่ ขณะที่หนึ่งในเป้าหมายที่คาดเดากันมากก็คือบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba เป็นต้น ??

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ผลต่อแนวโน้มการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องการรายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของไทยในไตรมาสที่ 2 ที่จะรายงานอย่างเป็นทางการโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 17 สิงหาคมนี้

ในเบื้องต้นมีนักเศรษฐศาสตร์หลายราย คาดการณ์ว่าอาจหดตัวมากกว่า 10% จากผลกระทบการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 อย่างไรก็ตาม หากตัวเลขเศรษฐกิจพลิกกลับมาหดตัวมากกว่าคาด ภาพรวมเศรษฐกิจไทยตลอดทั้งปี คงไม่รอดที่จะต้องถูกหั่นประมาณการรอบใหม่ กระทบต่อความเชื่อมั่นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปอย่างแน่นอน

ด้านนายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ประเมิน SET INDEX รอบสัปดาห์นี้ แม้ว่าดัชนีจะอยู่ในลักษณะแกว่งตัวบวกลบในกรอบ 1,300-1,360 จุด แต่บรรยากาศการลงทุนโดยรวมยังคงถูกปกคลุมไปด้วยความเสี่ยงเชิงลบ หลังจากผ่านพ้นฤดูกาลประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/63 ทำให้ขาดแรงกระตุ้นของนักเก็งกำไรระยะสั้น ขณะที่ภาพรวมตลาดหุ้นไทย ยังคงขาดปัจจัยบวกใหม่ๆสนับสนุน ท่ามกลางความหวังของรัฐมนตรีเศรษฐกิจชุดใหม่ว่าจะสามารถเดินหน้านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้รวดเร็วเหมือนอย่างที่ทุกคนคาดหวังกันได้มากน้อยอย่างไร

“แม้ว่านักวิเคราะห์ประเมิน GDP ไตรมาส2/63 คาดว่าติดลบประมาณบวกลบ 10% แต่มุมมองนักเศรษฐศาสตร์หลายๆค่ายประเมินกันว่าอาจถึงขั้นติดลบ 16-17% ทำให้คาดเดายากว่าจะมีผลกระทบอย่างไรกับบรรยากาศลงทุน เพราะส่วนหนึ่งต้องรอติดตามผลงานของรัฐมนตรีเศรษฐกิจชุดใหม่ด้วยว่าจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้เร็วแค่ไหนเป็นหนึ่งในเหตุผลช่วยประคับประคองความเชื่อมั่นผู้ลงทุนหากตัวเลข GDP ไตรมาส2/63 ที่ออกมาไม่ดีเหมือนกับที่หลายฝ่ายประมาณการ”

นายธนเดช กล่าว

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้หากดัชนีฯปรับฐานลงมาแถวบริเวณ 1,300 จุด ก็มองเป็นจังหวะทยอยสะสมหุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการเติบโตในช่วงครึ่งปีหลัง และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและสื่อสารที่มีความเสี่ยงน้อยรวมถึงมีกระแสเงินสดที่มั่นคง เช่น CPF,ADVANC และ INTUCH เป็นต้น

ด้านบทวิจัยฯ บล.กสิกรไทย ระบุว่า แนวโน้มดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์นี้จะมีแนวรับ 1,310 และ 1,300 จุด ขณะที่แนวต้าน 1,335 และ 1,350 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส2/63 ของไทยที่จะประกาศวันที่ 17 สิงหาคมนี้รวมถึงประเด็นทางการเมืองในประเทศ และสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ

ส่วนปัจจัยจากต่างประเทศ ต้องติดตามข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ บันทึกการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และยอดขายบ้านมือสองเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้ ต้องรอฟังประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2/2563 ของญี่ปุ่น รวมถึงดัชนีพีเอ็มไอของยูโรโซนและญี่ปุ่น

ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์นี้อยู่ที่ 30.80-31.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังจากสัปดาห์ที่แล้วค่าเงินบาทกลับมามีสัญญาณแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยขณะที่เงินดอลลาร์ฯอ่อนค่าลงท่ามกลางสัญญาณตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและจีนก่อนกำหนดการหารือความคืบหน้าของการดำเนินการตามข้อตกลงการค้าเฟสแรก นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขายจากความไม่แน่นอนของบทสรุปของมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ของสหรัฐฯ ซึ่งทำเนียบขาวและสภาคองเกรสที่มีจุดยืนแตกต่างกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ส.ค. 63)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top