ส่องหายนะแบงก์ไทยจากสึนามิ Disrupt ‘โซเชียลแบงกิ้ง-เงินดิจิทัล’ คนไทยพร้อมหรือยัง??

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท บิทคับ แคปปิตอลกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ภาพรวมแนวโน้มตลาดสกุลเงินดิจิทัลของโลก (cryptocurrency) มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง มีความเป็นไปได้ว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้าอุตสาหกรรมธนาคารของไทยเริ่มเห็นสัญญาณความน่าเป็นห่วงหากไม่เร่งปรับตัวจากผลกระทบของคลื่นลูกใหญ่ “Fintech Disruption” จากผู้เล่นรายใหม่ที่ให้บริการได้ดีกว่าธนาคาร ผ่านการเชื่อมโยงระบบ Ecosystem ของโซเชียลแบงกิ้ง แพลตฟอร์มรูปแบบต่างๆ และการถาโถมเข้ามาของเทคโนโลยีทุกรูปแบบ เช่น เทคโนโลยี Blockchain ,Cryptocurrency ,Big Data ,AI (ปัญญาประดิษฐ์) ,และ Peer to peer lending ที่เป็นธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลรูปแบบใหม่ผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

“คิดว่าอีก 2-3 ปีวงการการเงินของไทยจะเข้าสู่จุดพีค คลื่นของ Fintech Disruption จะเข้ามาอย่างรุนแรง ซึ่งแบงก์ไทยไม่เร่งปรับตัวคงรับผลกระทบอย่างมาก”

“Libra 2.0” VS “หยวนดิจิทัล”

นายจิรายุส กล่าวต่อว่า แม้ว่า Libra ที่มีต้นกำเนิดจาก Facebook จะเกิดสะดุดไปบ้างหลังจากประกาศโครงการ Libra เวอร์ชัน 1.0 แต่ล่าสุดพัฒนาเป็น Libra เวอร์ชัน 2.0 ที่มีความเป็นมิตรกับหน่วยงานกำกับทั่วโลกมากขึ้น และมีกระแสข่าวว่า Libra 2.0 เตรียมเปิดใช้งานจริงในเฟสแรกช่วงปลายปี 63 หลังจากจัดตั้งเป็นสมาคม Libra Association ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีพันธมิตร 24 รายราย ล่าสุด คือ กลุ่มเทมาเส็ก (Temasek Holdings) กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ของรัฐบาลสิงคโปร์

ด้านสกุลเงินอย่าง “หยวนดิจิทัล” ของประเทศจีนก็ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อเป้าหมายขึ้นเป็นผู้นำเทคโนโลยี Blockchain สร้างขึ้นโดยธนาคารแห่งประเทศจีน (People’s Bank of China) และเริ่มทดลองใช้แล้ว 4 เมืองหลัก ได้แก่ เซินเจิ้น สงอัน เฉิงตู และ ซูโจว โดยมีบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติรวม 17 รายเข้าร่วมทดลองครั้งนี้ด้วย

“แม้ว่าสหรัฐฯจะเป็นเบอร์หนึ่งของโลก แต่จีนก็ไล่ตามมาติดๆ จากสงครามด้านเทคโนโลยีก็ยกระดับขึ้นเป็น “Currency War” แล้วต้องติดตามกันต่อว่าระหว่าง Libra 2.0 และดิจิทัลหยวน ใครจะประสบความสำเร็จช่วงชิงอำนาจได้ก่อนกัน อยากให้คนไทยเข้ามาศึกษาคำว่า Deglobalization (อโลกาภิวัฒน์) เพราะว่าโลกวันนี้ได้ถูกแบ่งเป็น 2 ขั้วหลังจากจีนก็กำลังแย่งชิงขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ”

คนไทยพร้อมหรือยัง?

นายจิรายุส กล่าวว่า เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติพบว่าพฤติกรรมของคนไทยมีอัตราการใช้โทรศัพท์มือถือเฉลี่ย 1.4 เครื่องต่อคน และมีอัตราการเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตกว่า 80% ของคนไทยทั้งประเทศ นอกจากนั้น คนไทยยังติดอันดับต้นๆ ของโลกที่ใช้เวลากับโซเชียลมีเดียค่อนข้างสูง

Libra และหยวนดิจิทัลจะแฝงเข้ามาในแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียที่คนไทยคุ้นเคยกันอยู่แล้ว จึงไม่แปลกหากคนไทยแทบทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการใช้ Libra และหยวนดิจิทัล หากเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการของทั้ง 2 ฝั่งและได้รับการอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

“ถามว่าคนไทยพร้อมแค่ไหน เรียกว่าคนไทยทั้งประเทศคุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว อยู่ที่ว่า Libra และ ดิจิทัล หยวน จะเปิดสวิตอย่างเป็นทางการเมื่อใดมากกว่า แม้ว่าคนไทยจะนิยมแชทผ่าน LINE ในอนาคต LINE มีโอกาสเข้าไปเป็นหนึ่งใน Ecosystem ของ Libra ได้เช่นกัน”

แบงก์ชาติทดลอง”บาทดิจิทัล”เตรียมพร้อมรับมือ

นายจิรายุส ระบุว่า ธปท.ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการกำหนดแนวทางพัฒนาระบบรองรับการเข้ามาของสกุลเงินดิจิทัลในหลายมิติ หนึ่งในก้าวสำคัญ คือ โครงการอินทนนท์ ที่ ธปท.ริเริ่มร่วมกับสถาบันการเงิน 8 แห่ง และบริษัท R3 (ผู้พัฒนา DLT ใน Corda Platform) ทดสอบความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้ DLT กับระบบการชำระเงินของประเทศประสบความสำเร็จไปแล้ว 3 เฟสแล้ว

เฟสแรก เป็นการสร้างระบบการชำระเงินต้นแบบ โดยใช้ DLT รองรับการโอนเงินในประเทศระหว่างสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ เริ่มจากการแปลงเงินฝากของสถาบันการเงินที่นำมาฝากไว้ที่ ธปท. (Reserve) ให้อยู่ในรูปสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและโอนชำระเงินระหว่างกัน

เฟสสอง ออกแบบระบบรองรับการซื้อขายพันธบัตรในตลาดรอง ตัวอย่าง กรณีธนาคารกสิกรไทยออกหุ้นกู้หุ้นกู้สกุลเงินยูโรมูลค่า 17 ล้านยูโรโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน หรือกรณีที่กระทรวงการคลังขายพันธบัตรดิจิทัล 200 ล้านบาทหมดเร็วภายใน 99 วินาที

เฟสสาม คือ เชื่อมต่อกับระบบการชำระเงินในต่างประเทศผ่านการใช้ CBDC เป็นการขยายขอบเขตไปสู่การชำระเงินข้ามประเทศระหว่างสถาบันการเงิน

และเฟสสี่ คือ กลุ่ม Retail เป็นการชำระเงินด้วยสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางในภาคประชาชนทั่วไป ล่าสุด ธปท.อยู่ระหว่างระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อออกแบบและดีไซน์การทดลองใช้ “บาท ดิจิทัล” โดยเริ่มนำร่องในภาคธุรกิจก่อน คือโครงการกลุ่ม บมจ.ปูนต์ซิเมนต์ไทย (SCC) ร่วมกับบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เป็นผู้พัฒนาระบบดังกล่าวนำร่องชำระเงินในห่วงโซ่ซัพพลายเชนที่เป็นคู่ค้ากับ SCC น่าจะมีความคืบหน้ารายละเอียดอีกครั้งช่วงปลายปีนี้

“คิดว่าแนวโน้มที่แบงก์ชาติกำลังดำเนินการเป็นไปในทิศทางที่ดี อย่างกรณีต่างประเทศที่เริ่มให้ประชาชนทั่วไปใช้แล้วคือกรณีของ The Office of the Comptroller of the Currency (OCC) ของสหรัฐได้อนุญาตให้ธนาคารในสหรัฐสามารถบริการรับฝาก Cryptocurrency ได้แล้วอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่นเดียวกับฝั่งยุโรป ก็ให้ประชาชนสามารถออมเงินเป็น Cryptocurrency ได้เช่นกัน ซึ่งคงต้องติดตามพัฒนาการในไทยว่าจะเป็นอย่างไรในอนาคต”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ส.ค. 63)

Tags: , ,
Back to Top