GULF เชื่อหลังเพิ่มทุนซื้อโรงไฟฟ้าหนุน EPS โต ศักยภาพลงทุนทั่วโลกอีก 1.1 แสน

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2563 ในวันนี้อนุมัติแผนเพิ่มทุน 1,066.65 ล้านหุ้น

คาดว่าจะระดมทุนได้ราว 3 หมื่นล้านบาท รองรับการขยายลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่และโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ รวมถึงช่วยเพิ่มศักยภาพการลงทุนได้เพิ่มอีก 1.1 แสนล้านบาทในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า ซึ่งการลงทุนใหม่และโครงการลงทุนที่มีอยู่ในปัจจุบันทำให้มั่นใจว่าเบื้องต้นกำไรเติบโตต่อเนื่องจนถึงปี 65

นอกจากนี้ หลังการเพิ่มทุนจะทำให้หนี้สินต่อทุน (D/E) กลับมาอยู่ในระดับ 1.7-1.8 เท่า เท่ากับช่วงสิ้นไตรมาส 2/63 จากที่ถ้าไม่มีการเพิ่มทุน D/E จะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3/63 เพราะมีการกู้เงินระยะสั้นเพื่อมาใช้รองรับการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเยอรมนี และหากภายใน 2-3 ปีนี้ไม่ดำเนินการอย่างใด D/E จะพุ่งขึ้นเป็น 3 เท่า ดังนั้น บริษัทจึงตัดสินใจเพิ่มทุนเพื่อทำให้โครงสร้างทางการเงินมีความแข็งแกร่งขึ้น

ทั้งนี้ นายสารัชถ์ มั่นใจว่าการเพิ่มทุนครั้งนี้จะสำเร็จหลังจากที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หลายรายให้ความสนใจจองซื้อเกินสิทธิ์ที่กำหนดจัดสรรหุ้นเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 10 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 30 บาท พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่ากำไรสุทธิ/หุ้น (EPS) จะเติบโตได้หลังเพิ่มทุน จากการที่นำเงินเพิ่มทุนส่วนหนึ่งไปใช้รองรับการเข้าซื้อหุ้น 50% ในโรงไฟฟ้าพลังงานลม ขนาด 464.8 เมกะวัตต์ (MW) ในเยอรมนี ซึ่งเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4/63 และจะสร้างกำไรเข้ามาราว 1.5-2.0 พันล้านบาท/ปี โดยมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ราว 10-15%

“หลังจากนี้จะมีการเพิ่มทุนหรือไม่คงตอบไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องอนาคตปีสองปี ตอนนี้เราก็วางแผนไว้ว่าโครงการที่มีอยู่จะสามารถหาต้นทุนดำเนินการได้ดีสุดเป็นอย่างไร การเพิ่มทุนครั้งนี้สัดส่วนอยู่ที่ 10:1 ปกติเวลาเพิ่มทุน EPS จะลดน้อยลง แต่กรณีของเรา EPS จะเพิ่มสูงขึ้น เพราะมีโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เราไปซื้อเข้ามา พอเพิ่มทุนเสร็จ โอนหุ้นเสร็จ ตัว EPS ก็จะขึ้นมา”

นายสารัชถ์ กล่าวในที่ประชุมผู้ถือหุ้น

นายสารัชถ์ กล่าวอีกว่า การเพิ่มทุนจะช่วยเสริมศักยภาพในการมองหาโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติม ทั้งในสหรัฐ อังกฤษ ลาว เวียดนาม ยุโรป ซึ่งปัจจุบันมีหลายโครงการที่เข้ามาเสนอ ส่วนใหญ่เป็นโครงการพลังงานทดแทนในต่างประเทศ ระยะสั้น 2-3 ปี เน้นโครงการที่ดำเนินการผลิตแล้วและมีผลประกอบการที่ดี เพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัทได้ทันทีในระหว่างที่รอโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) 2 โครงการ รวม 5,000 เมกะวัตต์ จะเริ่มทยอยเข้าระบบตั้งแต่ปี 64-67

ทั้งนี้ ตามแผนงานบริษัทคาดว่ารายได้ปีนี้จะเติบโต 15% จากปี 62 และเติบโตอีกเกือบ 50% ในปี 64 จากการรับรู้ผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเยอรมนีเต็มปี และการเปิดดำเนินเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้า IPP GSRC จ.ชลบุรียูนิตแรก ในปี 64 และยูนิต 2 ในปี 65 โดยมีกำลังผลิตรวมราว 2,500 เมกะวัตต์

นอกจากนี้โรงไฟฟ้า IPP GPD จ.ระยอง กำลังการผลิตรวมราว 2,500 เมกะวัตต์ จะทยอยเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 66 และ 67 ส่วนโรงไฟฟ้าหินกอง จ.ราชบุรี ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ จะเดินเครื่องผลิตในปี 67 และ 68 ขณะที่โรงไฟฟ้าบูรพาพาวเวอร์ ซึ่งเป็น IPP ขนาด 540 เมกะวัตต์ จะเริ่มผลิตในปี 70

ขณะที่บริษัทยังให้ความสนใจศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาว 3 โครงการ กำลังผลิตรวมกว่า 2,000 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถปิดดีลได้ภายในปี 64

ปัจจุบัน GULF มีกำลังผลิตติดตั้งในมือรวม 7,976 เมกะวัตต์ ใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม เยอรมนี และ โอมาน โดยเป็นกำลังผลิตที่เดินเครื่องแล้ว 6,409 เมกะวัตต์ และจะเพิ่มเป็น 8,000 เมกะวัตต์ในปี 64 และเพิ่มเป็น 10,000 เมกะวัตต์ในปี 65

นายสารัชถ์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นบริษัทแทบจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ แม้ว่าส่วนหนึ่งจะมีการขายไฟฟ้าให้กับภาคอุตสาหกรรมก็ตาม เนื่องจากบางอุตสาหกรรมอย่างยานยนต์ชะลอการใช้ไฟฟ้า แต่บางอุตสาหกรรมอย่างบรรจุภัณฑ์และอาหารมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

ส่วนการได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (shipper) สำหรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าตัวเองนั้น เชื่อว่าจะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลงในอนาคต และต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซฯเพิ่มขึ้นในอนาคต

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน ของ GULF กล่าวว่า บริษัทยังมีแผนออกหุ้นกู้ราว 1 หมื่นล้านบาทในปี 64 เพื่อใช้ขยายลงทุน หรือรีไฟแนนซ์ ซึ่งจะทำให้โครงสร้างทางการเงินมีความแข็งแกร่งมากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ส.ค. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top