PODCAST: จับตา “MSCI” เทขาย 6 หุ้นบิ๊กแคป-ระทึกสัญญาณ “เดือด” ทะเลจีนใต้

“Weekly Highlight” สัปดาห์นี้ (31 ส.ค.-4 ก.ย.) มาเจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 31 สิงหาคม 2563

เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (24-28 ส.ค.) SET INDEX ปิดที่ระดับ 1,323.31 จุด เพิ่มขึ้น 1.85% จากสัปดาห์ก่อน โดยกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มมีเดีย เพิ่มขึ้น 10.5% รองลงมาคือกลุ่มธุรกิจการเงิน เพิ่มขึ้น 5.9% และสุดท้ายคือกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง เพิ่มขึ้น 5.7%

บรรยากาศการลงทุนในช่วงต้นสัปดาห์นี้ ดูเหมือนว่านักวิเคราะห์ต่างเฝ้าระวังแรงขายในกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่อีกระลอก หลังจากที่ดัชนี MSCI Global Standard Index ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยลง 0.01% ลงมาสู่ระดับ 2 % คิดเป็นสัดส่วนเงินไหลออกจากตลาดหุ้นไทยราว 22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีผลอย่างเป็นทางการ ณ ราคาปิดของวันจันทร์ที่ 31 ส.ค.นี้ ส่งผลให้หุ้นขนาดใหญ่ทั้ง 6 บริษัทที่ถูกปรับลดน้ำหนักการลงทุนก็เสี่ยงที่จะเผชิญกับแรงขายสลับออกมาด้วย ประกอบด้วย หุ้น PTT ,CPALL, SCC, ADVANC, AOT และ BDMS

ส่วนหุ้นที่ถูกปรับเพิ่มน้ำหนัก 2 บริษัท ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ หรือ BH คงต้องมาติดตามว่ามีแรงซื้อเข้ามาเพิ่มอีกหรือไม่ หลังจากที่มีการเก็งกำไรกับประเด็นบวกดังกล่าวไปแล้วในช่วงก่อนหน้านี้

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ที่นักวิเคราะห์ให้ความสำคัญช่วงนี้ คือท่าทีธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด หลังจากได้ประกาศใช้เครื่องมือเป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย แทนเป้าหมายตายตัวที่ 2% เป็นสิ่งสะท้อนว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯมีโอกาสทรงตัวในระดับต่ำต่อไป เป็นสัญญาณเชิงบวกต่อกระแสเงินที่ยังมีโอกาสไหลเข้าสู่ตลาดสินทรัพย์เสี่ยง

แม้ว่าจะเป็นประเด็นเชิงบวกต่อตลาดหุ้น แต่ดูเหมือนว่าความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์กลับเพิ่มสูงขึ้น ภายหลังประเทศจีนยิงขีปนาวุธจำนวน 4 ลูก ลงสู่น่านน้ำทะเลจีนใต้ เพื่อเป็นการแสดงความไม่พอใจที่สหรัฐส่งเครื่องบินสอดแนมเข้ามายังน่านฟ้าประเทศจีน ขณะที่ฝั่งประเทศสหรัฐอเมริกาก็ตอบโต้ด้วยการสั่งคว่ำบาตรทางการค้าและยกเลิกวีซ่าแก่ 24 บริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือทางทหารกับจีนในครั้งนี้

นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย ซีมิโก้ ประเมินภาพรวม SET INDEX รอบสัปดาห์นี้ แม้ว่าจะมีปัจจัยลบเข้ามารุมเร้าบรรยากาศการลงทุนช่วงต้นสัปดาห์ ทำให้ดัชนียังคงมีกรอบการฟื้นตัวที่จำกัด แต่ยังพอมีลุ้นกับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของคณะรัฐมนตรีเพิ่มเติม คาดว่าจะส่งผลบวกต่อหุ้นบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือในครั้งนี้ด้วย

ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้อยู่ที่ 31.10-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยในประเทศที่สำคัญ ได้แก่ รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนก.ค. ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถานการณ์ทางการเมือง ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนี ISM และ PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP เดือนส.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน รายจ่ายด้านการก่อสร้างเดือนก.ค. และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) ของเฟด นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนส.ค. ของจีน ยูโรโซน และญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ส.ค. 63)

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , ,
Back to Top