หุ้นไทยเช้านี้แนวโน้มปรับตัวลงตามภูมิภาค วิตกโควิด-ข้อพิพาทจีนสหรัฐ

นักวิเคราะห์ฯคาดตลาดหุ้นไทยเช้านี้ปรับตัวลงตามตลาดภูมิภาคที่ติดลบ เหตุกังวลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอก 2-3 ทำให้ไปฉุดเศรษฐกิจ ส่งผลให้ราคาน้ำมันร่วงแรงราว 7% และซาอุดีอาระเบียก็ปรับลดราคาขาย OSP ในเอเชีย หวั่น Demand ชะลอตัว ด้านยุโรปกังวล Brexit ของอังกฤษที่จะทำแบบ No-deal Brexit อีกทั้ง Nasdaq ร่วงแรงจากแรงขายกลุ่มเทคโนโลยีในสหรัฐฯ รวมถึงวิตกข้อพิพาทจีน-สหรัฐฯหลัง “ทรัมป์” ระบุว่าจะลดระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ-จีน และเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าช่วงสั้นส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงโดนขาย บ้านเราก็ยังเฝ้าระวังโควิด-รอดูชุมนุมการเมืองใน 19 ก.ย.นี้-ยังหา รมว.คลังคนใหม่ไม่ได้ แต่ตลาดบ้านเราอาจไม่ร่วงหนัก เหตุนับจากต้นปีร่วงไปแล้ว 18% พร้อมให้แนวรับ 1,280-1,275 แนวต้าน 1,300-1,307 จุด

นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะปรับตัวลงตามตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่เช้านี้เคลื่อนไหวในแดนลบกัน เนื่องจากมีความกังวลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอก 2-3 ทำให้ยังเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจอยู่ ประกอบกับราคาน้ำมันดิบก็ร่วงแรงราว 7% จากความกังวลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 หลังองค์การอนามัยโลก (WHO) และหลายแห่งออกมาเตือนในระวังไตรมาส 4/63 การระบาดอาจกลับมาได้ และซาอุดีอาระเบียก็ปรับลดราคาขายน้ำมันอย่างเป็นทางการ (OSP) สำหรับเอเชีย ทำให้คนมองว่าความต้องการใช้อาจจะชะลอตัวหรือไม่

ด้านยุโรปก็กังวลเรื่องที่อังกฤษพร้อมที่จะออกจากสหภาพยุโรป (EU) โดยไม่มีการทำข้อตกลง (no-deal Brexit) อีกทั้งดัชนี Nasdaq ก็ร่วงแรงจากแรงขายหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีในสหรัฐฯ รวมถึงวิตกข้อพิพาทระหว่างจีน และสหรัฐฯ หลังประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาว่าจะลดระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้วิตกจะกลับมาเรียกเก็บภาษีกันอีกครั้ง อีกทั้งเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าในช่วงสั้นทำให้สินทรัพย์เสี่ยงต่างโดนขายออกมา

สำหรับบ้านเราก็ยังเฝ้าระวังการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และยังรอดูการชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 19 ก.ย.นี้ รวมถึงยังหารมว.คลังคนใหม่ไม่ได้ อย่างไรก็ดี ตลาดบ้านเราอาจจะไม่ปรับตัวลงหนักเหมือนตลาดอื่น เพราะนับจากต้นปีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงมาแล้ว 18%

พร้อมให้แนวรับ 1,280-1,275 จุด ส่วนแนวต้าน 1,300-1,307 จุด

ประเด็นพิจารณาการลงทุน

  • ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (8 ก.ย.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 27,500.89 จุด ลดลง 632.42 จุด (-2.25%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,331.84 จุด ลดลง 95.12 จุด (-2.78%), ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,847.69 จุด ลดลง 465.44 จุด (-4.11%)
  • ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 307.24 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 29.38 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 328.92 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 71.38 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 16.64 จุด
  • ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (8 ก.ย.63) 1,293.80 จุด ลดลง 18.15 จุด (-1.38%)
  • นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 60.13 ล้านบาท เมื่อวันที่ 8 ก.ย.63
  • ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ต.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (8 ก.ย.63) ปิดที่ 36.76 ดอลลาร์/บาร์เรล ร่วงลง 3.01 ดอลลาร์ หรือ 7.6%
  • ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (8 ก.ย.) อยู่ที่ -0.08 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • เงินบาทเปิด 31.39 แข็งค่าสวนทางภูมิภาค หลังมีแรงขายดอลล์ มองกรอบวันนี้ 31.35-31.50
  • “พลังงาน” เตรียมชง 2 ทางเลือกให้ “สุพัฒนพงษ์” เคาะเปิดรับซื้อไฟแทนโรงไฟฟ้าชุมชน เล็งใช้โควตาแผนพีดีพี 2018 รับซื้อไฟเชื้อเพลิงชีวมวล-ชีวภาพ จ่อเสนออัตราค่าไฟฟ้าสูงกว่าปกติ จูงใจเสนอแบ่งปันผลประโยชน์ชุมชน ด้านผู้ผลิตไฟรายย่อยยืนยันเป็นนโยบายฟื้นเศรษฐกิจฐานราก
  • แบงก์ชาติ จี้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ หลังประเมิน “เทรดวอร์-โควิด” ฉุดภาคส่งออกซึมยาว แนะปรับตัว 4 ด้าน “เน้นพึ่งพาในประเทศ-รุกเชื่อมโยงเศรษฐกิจภูมิภาค-ร่วมเจรจา CPTPP-ปรับตัวรับเทรดวอร์” ย้ำ “การเงิน-การคลัง” ยังมีกระสุนเหลือกระตุ้นเพิ่ม ด้าน “กรุงศรี” จี้ดูแลภาคธุรกิจ ห่วงตกงานเพิ่มซ้ำเติมจีดีพี ขณะนักวิชาการ ชี้โลกกำลังเข้าสู่สงครามเย็น
  • นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดเดือนสิงหาคม เห็นว่าความผันผวนอยู่ทั่วโลก ผลจากปัจจัยความไม่แน่นอนทั่วโลก แนะนำให้นักลงทุนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดเพราะมีปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนอยู่มาก ส่วน ตลท.เตรียมรับมือมาตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม โดยออกมาตรการ อาทิ ปรับเกณฑ์มาตรการหยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราว (เซอร์กิต เบรกเกอร์) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นำมาตรการมาใช้เพิ่มเติม กรณีตลาดผันผวนรุนแรง ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นปี 2564 ต้องประเมินจากความสามารถทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) และหากเข้าลงทุนต้องดูผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแต่ละอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน บางอุตสาหกรรมยังเติบโตได้ แม้ โควิด-19 ระบาด บางอุตสาหกรรมฟื้นตัวแล้ว
  • นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยกระทรวงอยู่ระหว่างจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (ปี 2562-70) ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว โดยตั้งเป้าหมายให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตของอาเซียน และเป็น 1 ใน 10 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลก โดยปี 2563 กระทรวงมีงบประมาณขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปกว่า 1,000 ล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก คาดภายใน 1 ปีรายได้เกษตรกรเพิ่มเป็น 53,000 บาท/คน/ปี เพิ่มเป็น 66,000 บาทใน 5 ปี และเพิ่มเป็น 91,000 บาทในปี 2570 เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมอุตสาหกรรมอาหารของไทยเป็น 1.42 ล้านล้านบาท สร้างรายได้ให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง 4.5 ล้านล้านบาท ครอบคลุมธุรกิจเกี่ยวเนื่องกว่า 7.6 ล้านราย และเกิดการลงทุนใหม่ในประเทศกว่า 4.8 แสนล้านบาท
  • สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯคาดการณ์ส่งออกปี 2563 หดตัว -10% จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังระบาดทั่วโลกและส่งผลกระทบรุนแรง ส่งผลต่อต้นทุนขนส่งสินค้าปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี (ม.ค.-ก.ค.) ส่งออกหดตัว -7.72%

หุ้นเด่นวันนี้

  • NER (เคทีบีฯ) เป้าเชิงกลยุทธ์ 3.5 บาท สถานการณ์การค้าสหรัฐฯ-จีน มีผลต่อราคาหุ้น NER แต่ด้วยภาวะธุรกิจที่ยังดี มองเป็นจังหวะซื้อ และราคายางพารายังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง จากการผลิตรถยนต์ของจีนกระเตื้องขึ้น ซึ่ง NER จะเป็นบริษัทที่ได้รับประโยชน์โดยตรง แม้จะขายแบบล็อกราคาไปแล้ว แต่มีออร์เดอร์บางส่วนที่ไม่ได้ทำราคาขายล่วงหน้า
  • SAPPE (คิงส์ฟอร์ด)“ซื้อเก็งกำไร”เป้า Bloomberg Consensus 22.00 บาท แนวโน้มยอดขายกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นใน H2/63 จากทั้งในและต่างประเทศ โดยตลาดในประเทศได้แรงหนุนจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย สินค้าหลักประเภท Functional Drink ยังเป็นจุดแข็งตามกระแสรักสุขภาพ พร้อมวางกลยุทธ์เจาะกลุ่มตลาด Mass ตั้งเป้าออกสินค้าใหม่และขยายช่องทางจำหน่ายผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น ส่วนตลาดต่างประเทศ Brand เครื่องดื่ม B’lue ได้สิทธิจำหน่ายเพิ่มในประเทศเกาหลีใต้ ลาว และกัมพูชา น่าจะช่วยหนุนการส่งออก ขณะที่ Margin แนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการใช้กำลังการผลิตและได้ประโยชน์จากการปรับลดภาษีสรรพสามิตลงตั้งแต่ ก.ค.63
  • TU (ฟินันเซีย ไซรัส) “ซื้อ”เป้า 18 บาท คาดกำไร H2/63 จะฟื้นตัว โดย Q3/63 เป็น High Season ขณะที่ Red Lobster คาดทยอยขาดทุนลดลงจากการ Reopen และมองบวกต่อการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของ Red Lobster และได้ผู้มีประสบการณ์ตรงในธุรกิจร้านอาหารเข้ามาบริหาร พร้อมคาดกำไรปกติปี 2563-2564 โต +9% Y-Y และ 10% Y-Y ตามลำดับ ขณะที่ด้าน Valuation อยู่ในโซนถูก ซื้อขายที่ 2564PER เพียง 11.6 เท่า และให้ Dividend Yield ราว 4.3%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ย. 63)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top