TTW คาดรายได้ปี 63 โตใกล้เคียงปีก่อน โควิดฉุดยอดใช้น้ำภาคอุตฯลด แต่ภาคครัวเรือนยังขยายตัว

นายสมเกียรติ ปัทมมงคลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานบริหาร และผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน บมจ.ทีทีดับบลิว (TTW) คาดว่า รายได้ในปี 63 ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 6,165.6 ล้านบาท หรืออาจเติบโตน้อยกว่า โดยในช่วงครึ่งปีแรกมีรายได้ 3,090.8 ล้านบาท จากเดิมที่บริษัทตั้งเป้าเติบโต 2-3% ทั้งนี้ ปกติการเติบโตของรายได้ที่เป็นธุรกิจน้ำประปาเป็นหลักไม่หวือหวา แต่เนื่องจากปีนี้เกิดการระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ลูกค้าภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมมีการใช้น้ำลดลง

“ปีนี้รายได้กระทบบ้าง ในแง่การเติบโต อาจน้อยกว่าหรือใกล้เคียงปีที่ผ่านมา แต่ธุรกิจเราก็จะรักษาให้ใกล้เคียงปีก่อน อยากให้สบายใจว่า การดำเนินธุรกิจ TTW มีผลกระทบจากโควิดบ้าง แต่เราควบคุมรายจ่าย เพื่อรักษาผลประกอบการให้ดีที่สุด”

นายสมเกียรติ กล่าว

ด้านนายชานนท์ อินทร์พิทักษ์ นักลงทุนสัมพันธ์ TTW กล่าวว่าในช่วงเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้สัดส่วนผู้ใช้น้ำในพื้นที่สมุทรสาครและนครปฐมปรับเปลี่ยนจากเดิมภาคครัวเรือนกับภาคอุตสาหกรรมใกล้เคียงกัน แต่ในช่วงเกิดการระบาดโควิดภาคอุตสาหกรรมใช้น้ำลดลง

โดยในไตรมาส 2/63 ภาคครัวเรือนขยับสัดส่วนมาเป็น 47% จาก 43%ในไตรมาส 1/63 และ ภาคอุตสาหกรรมลดลงสัดส่วน 38% ในไตรมาส 2/63 จาก 41%ในไตรมาส 1/63 ส่วนพาณิชยกรรมอยู่ที่ 15% ลดลงจาก 16% อย่างไรก็ดีอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ลดลดไปบ้างแต่ก็ยังรับผลกระทบไม่มากนัก และได้ชดเชยจากภาคครัวเรือน โดยในเดือนส.ค.กลับมาใช้น้ำปกติแล้ว

ส่วนพื้นที่ปทุมธานี- รังสิต อาจได้รับผลกระทบน้อยกว่า เพราะส่วนใหญ่เป็นครัวเรือน มีคอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร และจากมาตรการทำงานที่บ้าน (WFH) ทำให้มียอดใช้น้ำเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาส 2/63 เติบโต 3-4% โดยมีสัดส่วนภาคครัวเรือน 66% เพิ่มจาก 62%ในไตรมาส 1/63 ส่วนภาคอุตสาหกรรมลดลงมาที่ 19% จาก 21% ในไตรมาส 1/63 และส่วนพาณิชยกรรมลดลงมาที่ 15% จาก 17%ในไตรมาส 1/63

ส่วนพื้นที่ภายในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน มีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย ผู้ใช้ภาคอุตสาหกรรม หยุดผลิตและลดการผลิต แต่ก็คาดว่าภาวะเศรษฐกิจไม่แย่กว่านี้ก็จะมียอดใช้น้ำกลับขึ้นมา

ทั้งนี้ ในไตรมาส 2/63 มีรายได้ 1,549.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรสุทธิ 694.3 ล้านบาท ลดลง 4.9% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยบริษัทมียอดขายน้ำจากพื้นที่ปทุมธานี-รังสิตที่สูงขึ้น การปรับลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการลง 10% และการลดต้นทุนทางการเงินลง ซึ่งรีไฟแนนซ์เงินกู้ 2,670 ล้านบาท ทั้งนี้ธุรกิจน้ำประปายังเติบโตได้ดี แต่มีการรับรู้ผลขาดทุนจากธุรกิจพลังงานที่บริษัทลงทุนผ่านบมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP) ที่ถือ 24.98% ทำให้กำไรสุทธิลดลงไป

ปัจจุบัน มีโรงงานผลิตน้ำ 4 แห่ง กำลังการผลิตรวม 1,076,600 ลบ.ม./วัน โดยพื้นที่สมุทรสาคร-นครปฐม มี 2 โรงงาน โรงแรกมีกำลังการผลิต 440,000 ลบ.ม./วัน แห่งที่ 2 มีกำลังการผลิต 400,000 ลบ.ม./วันซึ่งมีการใช้กำลังการผลิต 100,000 ลบ.ม./วัน ยังเหลือกำลังการผลิต 300,000 ลบ.ม./วัน หากมีดีมานด์ก็สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ครั้งละ 100,000 ลบ.ม./วัน ใช้เงินลงทุน 1 พันล้านบาท ในใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ส่วนพื้นที่ปทุมธานี -รังสิต มีกำลังการผลิต 488,000 ลบ.ม./วัน และนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน 48,000 ลบ.ม./วัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.ย. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top