“Weekly Highlight” สัปดาห์นี้ (21-25 ก.ย.) เจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 21 กันยายน 2563
เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (14-18 ก.ย.) SET INDEX ปิดที่ระดับ 1,288.39 จุด เพิ่มขึ้น 0.66% จากสัปดาห์ก่อน โดยกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 17.6% รองลงมาคือกลุ่มธุรกิจการเงิน เพิ่มขึ้น 2.8% และสุดท้ายคือกลุ่มการเกษตร เพิ่มขึ้น 2.5%
แม้ว่าเหตุการณ์การชุมนุมครั้งใหญ่ ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันเสาร์ที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา จะยุติลงตามเวลาที่กำหนด และประกาศสลายการชุมนุม ท่ามกลางการป้องกันอย่างแน่นหนา แต่โดยภาพรวมของสถานการณ์การเมืองในเวลานี้ ดูเหมือนกับว่าจะยกระดับความร้อนแรงมากขึ้น ภายหลังจากที่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้ประกาศนัดชุมนุมครั้งต่อไปคือในวันที่ 24 กันยายนที่จะมีพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และวันที่ 14 ตุลาคม นับเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักกดดันบรรยากาศการลงทุน และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะสร้างผลกระทบเชิงลบต่อความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบันในประเทศ ซึ่งจัดว่าเป็น 2 กลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่ชี้นำการเปลี่ยนแปลงของดัชนีตลาดหุ้นไทย
ขณะที่นักวิเคราะห์การลงทุนหลายสำนัก เริ่มเฝ้าระวังการหวนกลับมาของปัญหาการเมือง ว่าจะเข้ามาเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยมากน้อยอย่างไร หลังจากหน่วยงานที่มีบทบาทพยากรณ์เศรษฐกิจไทยหลายแห่ง ได้ทยอยปรับลดประมาณการตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ของไทยตลอดทั้งปี 2563 ว่ามีสิทธิติดลบมากกว่า 10% จากผลกระทบการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 นับว่าเป็นอัตราการหดตัวทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เป็นอันดับต้นๆของภูมิภาคเอเชีย
นอกจากประเด็นการเมืองในประเทศที่นักวิเคราะห์ให้ความสำคัญแล้ว ในสัปดาห์นี้ยังคงต้องเกาะติดกับผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ในวันพุธที่ 23 กันยายน ว่าจะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกหรือไม่ จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.5% ซึ่งจากการสำรวจมุมมองของนักวิเคราะห์หลายสำนัก ประเมินกันว่าคณะกรรมการ กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิม
แม้ว่าทิศทางของดอกเบี้ยนโยบาย จะเป็นสิ่งที่นักลงทุนในตลาดคาดการณ์เอาไว้แล้ว แต่อีกหนึ่งตัวแปรที่ต้องระวังคือการส่งสัญญาณในฟากฝั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าจะทบทวนปรับลดประมาณการ GDP อีกระลอกหรือไม่ หลังจากที่ปัญหาทางการเมืองหวนกลับมารุมเร้าเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง
สำหรับปัจจัยเสี่ยงในต่างประเทศยังต้องติดตามกับประเด็นความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐที่ยังไม่มีความแน่นอน โดยเฉพาะฝั่งสหรัฐอเมริกา อาจแสดงท่าทียกระดับความขัดแย้งมากขึ้น เพื่อช่วงชิงคะแนนเสียงทางการเมืองหลังจากใกล้เข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯรอบใหม่ในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้
นายวัชเรนทร์ จงยรรยง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก ประเมินภาพของ SET INDEX ในสัปดาห์นี้ มีความเป็นไปได้ที่ดัชนีฯจะแกว่งตัวในทิศทางขาลง โดยวางกรอบแนวรับสำคัญไว้ที่ 1,250 จุด เพราะปัญหาการเมืองของไทยเริ่มมีความไม่แน่นอน เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และอาจสร้างผลกระทบต่อทิศทางกำไรของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในระยะถัดไปได้เช่นกัน
ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์นี้ (21-25 ก.ย.) อยู่ที่ 30.80-31.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญในประเทศ ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมือง ผลการประชุม กนง. (23 ก.ย.) และตัวเลขการส่งออกเดือน ส.ค. ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือน ก.ย. (เบื้องต้น) ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสองและยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ส.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ประเด็นการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR ประจำเดือนก.ย. ของ PBOC
สำหรับการเคลื่อนไหวของเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น ตามทิศทางค่าเงินหยวนและสกุลเงินเอเชียอื่น ๆ มีแรงหนุนจากข่าวการพัฒนาวัคซีนสำหรับโควิด-19 ขณะที่เงินดอลลาร์ฯเผชิญแรงขายตามการส่งสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินและยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเป็นเวลานานของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกอบกับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ (อาทิ ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านที่หดตัวลง) ก็อ่อนแอกว่าที่คาดด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับจังหวะการซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ย. 63)
Tags: PODCAST, SET, SET Index, การเมือง, ชุมนุม, ชุมนุมใหญ่, ตลาดหุ้นไทย, ธนาคารกสิกรไทย, ธปท., นโยบายการเงิน, วัชเรนทร์ จงยรรยง, หุ้นไทย, โกลเบล็ก