PODCAST: หุ้นแบงก์หอมกลิ่น Buy On Fact ลุ้น SET 1,300 จุด

“Weekly Highlight” สัปดาห์นี้ (12-16 ต.ค.) เจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 12 ตุลาคม 2563

เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (5-9 ต.ค.) SET INDEX ปิดที่ระดับ 1,267.14 จุด เพิ่มขึ้น 2.39% จากสัปดาห์ก่อน โดยกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 8.5% รองลงมาคือกลุ่มปิโตรเคมี เพิ่มขึ้น 6% และสุดท้ายคือกลุ่มพลังงาน เพิ่มขึ้น 3.9%

เข้าสู่ช่วงกลางเดือนตุลาคม แม้ว่าบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะยังถูกปกคลุมไปด้วยความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ที่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมยืนยันเดินหน้านัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ประกอบกับแรงขายของกลุ่มผู้ลงทุนต่างชาติที่ยังคงลดน้ำหนักหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง สร้างแรงกดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง หรือ ฟื้นตัวได้ในกรอบที่จำกัดเท่านั้น

แต่จากการสำรวจความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์หลายสำนัก ก็เริ่มที่จะมองเห็นแสงสว่างของปัจจัยบวกที่จะเข้ามาสนับสนุนความเชื่อมั่นผู้ลงทุนอีกครั้ง หลังจากเข้าสู่เทศกาลของการรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3/63 นำร่องกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่คาดจะเริ่มทยอยรายงานออกมาอย่างเป็นทางการตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไป

และแม้ว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะประเมินภาพของกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ยังอยู่ในทิศทางขาลง แต่ด้วยมูลค่าหุ้นธนาคารบางรายอยู่ในโซนที่ค่อนข้างถูก หลังจากโดนถล่มขายออกมาอย่างหนักในช่วงก่อนหน้านี้ จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์มีโอกาสเกิดภาวะ Buy On Fact หรือ มีแรงซื้อคืนได้ในช่วงสั้น

ด้านนายวิกิจ ถิรวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานวิจัย บล.บัวหลวง ประเมินภาพรวม SET INDEX รอบสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในลักษณะ Sideway หรือแกว่งตัวออกด้านข้าง เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงเฝ้ารอดูตัวเลขผลกำไรของบรรดาบริษัทจดทะเบียน แต่จากการจัดทำบทวิจัยฯพบว่าภาพรวมของกำไรบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่เริ่มเห็นสัญญาณของการฟื้นตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/63 ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิด-19 เป็นการสะท้อนอย่างหนึ่งว่าภาพรวมของตลาดหุ้นไทยในวันนี้อาจปรับตัวลดลงต่ำกว่าพื้นฐานที่ควรจะเป็น และมีโอกาสเห็นการฟื้นตัวทดสอบ 1,300 จุดได้ในระยะถัดไป

สำหรับกลุ่มธนาคารจะนำร่องรายงานผลประกอบการเป็นกลุ่มแรกสัปดาห์นี้ แม้ว่าแนวโน้มภาพรวมของกำไรน่าจะออกมาไม่ค่อยสดใส เป็นสิ่งที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ แต่สิ่งที่จะมีผลกระทบโดยตรงหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์คือการจัดทำ “Stress Test” หรือเรียกว่าเป็นการจัดทำประมาณการฐานะและการดำเนินงานท่ามกลางภาวะวิกฤติ ภายใต้การดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งคงต้องติดตามผลสรุปของการจัดทำ “Stress Test” ครั้งนี้ว่าจะเป็นเหมือนกับที่นักลงทุนกังวลกันหรือไม่คือศักยภาพการจ่ายเงินปันผลของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะสามารถรักษาเหมือนกับในช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤติโควิด-19 ได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์มีโอกาสเกิด Buy On Fact ช่วงสั้น เพราะก่อนหน้านี้นักลงทุนปรับลดน้ำหนักขายหุ้นกลุ่มธนาคารไปมากแล้ว เรียกว่าเข้าโซนที่ถูกมาก แต่ปัจจัยลบกดดันอาจทำให้การฟื้นตัวไปได้ไม่ไกล ขณะที่นักวิเคราะห์แทบทุกสำนักต่างประเมินแนวโน้มกำไรไตรมาส 3/63 มีโอกาสติดลบเป็นตัวเลข 2 หลักเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่สิ่งที่ให้ความสำคัญมากกว่ามูลค่าถูกหรือแพงคือผลการทำ “Stress Test” รอบนี้มากกว่า

“ผลประกอบการไตรมาส 3/63 ที่เตรียมทยอยรายงาน โดยภาพรวมเท่าที่ฝ่ายวิจัยทำประมาณการบริษัทขนาดใหญ่ 85 บริษัทพบว่า 76% มีโอกาสที่จะฟื้นตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/63 ส่วนอีกกว่า 20% มีโอกาสที่ผลประกอบการจะแย่กว่าที่คาด ดังนั้น มองว่าหากต้องปรับลดกำไรของตลาด (EPS) ก็อาจปรับลดลงไม่เยอะ แม้ว่าจากความกังวลต่อหลายความเสี่ยงทั้งในประเทศและต่างประเทศ กดดันดัชนีตลาดหุ้นไทยรอบนี้ปรับฐานจาก 1,370 จุดลงมาแถว 1,230 นั้นเท่ากับดัชนีฯปรับตัวลดลงประมาณ 10% แต่ขณะที่ภาพรวมของอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาดหุ้นไทยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ฝ่ายวิจัยปรับลด EPS ลงมาเหลือ 87 บาท/หุ้น มาเหลือ 84 บาท/หุ้น เป็นการลดลงกว่า 3% เท่านั้น เป็นการสะท้อนอย่างหนึ่งว่าตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาเกินพื้นฐานไปแล้ว มีโอกาสเห็นการฟื้นตัวลักษณะ Sideway Up ในระยะถัดไป”

นายวิกิจ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อประเมินภาพรวมตลาดหุ้นไทยช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมเริ่มกลับมามีสัญญาณเชิงบวกที่ชัดเจนมากขึ้น โดยตัวแปรสำคัญที่สนับสนุนบรรยากาศการลงทุนคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ 2 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ที่มีโอกาสผ่านการอนุมัติอย่างเป็นทางการเพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากวิกฤติโควิด-19

“ส่วนตัวคิดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯวงเงิน 2 ล้านล้านดอลลาร์อย่างไรก็ต้องนำมาใช้แน่ แม้ว่าจะมีประเด็นการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ช่วงเดือน พ.ย. แต่เชื่อว่าหาก “โจ ไบเดน” พรรคเดโมแครตสหรัฐฯจะคว้าชัยก็ตามคิดว่ามาตรการดังกล่าวน่าจะผ่านอย่างฉลุย ส่วนถ้ากรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งนโยบายนี้ก็จะเดินหน้าได้ต่อเนื่อง จะเป็นตัวแปรหลักสนับสนุนความเชื่อมั่นผลักดันกลุ่มสินทรัพย์เสี่ยงมีโอกาสกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง”

นายวิกิจ กล่าว

ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์นี้ (12-16 ต.ค.) ที่ 30.90-31.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปัจจัยการเมืองในประเทศ การเจรจาการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และบทสรุปของมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดนิวยอร์ก ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดฟิลาเดลเฟียและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนต.ค. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามเครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนก.ย. ของจีนด้วยเช่นกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ต.ค. 63)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top