รมว.คลัง สั่ง คปภ.ทำแผนประกันภัยผู้มีรายได้น้อย ผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังต้องการให้ประชาชนทั่วไปและผู้มีรายได้น้อยมีการทำประกันภัยมากขึ้น โดยจะผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เร่งจัดทำแผนประกันสุขภาพ ประกันหลังวัยเกษียณอายุ และประกันเกี่ยวกับการขนส่งคมนาคม เพื่อเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณารูปแบบการดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ การยกระดับการประกันสุขภาพในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ควรเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เพราะสัดส่วนการทำประกันสุขภาพของคนไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่งบประมาณยังไม่เพียงพอที่จะรองรับค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต ดังนั้นหากแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมถึงช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐได้

“ปัจจุบัน คนไทยมีสัดส่วนการทำประกันภัยน้อย และหลักประกันหรือสวัสดิการของรัฐในด้านสุขภาพ ยังมีไม่เพียงพอที่จะรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต ดังนั้นจึงจะใช้ระบบประกันเข้ามาช่วย เพื่อแบ่งเบาภาระงบประมาณของภาครัฐในระยะต่อไป ซึ่งกระทรวงการคลังพร้อมที่จะใช้มาตรการทางด้านการคลังเข้ามาสนับสนุน ทั้งการขยายสิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือการใช้งบประมาณรัฐเข้าไปช่วย แต่รายละเอียดจะมีการศึกษาก่อน”

รมว.คลังกล่าวในงานมอบรางวัลประกันภัยดีเด่นครบวงจรประจำปี 2563

พร้อมกันนี้ ยังได้สั่งการให้ คปภ.ไปพิจารณาการทำประกันภัยพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะพืชหลักทางเศรษฐกิจ ให้ครบทั้ง 5 ชนิด คือ มันสำปะหลัง, ยางพารา และปาล์มน้ำมัน จากปัจจุบันที่ทำประกันข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปแล้ว เพื่อให้สามารถช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรให้มีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้นได้

ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า พร้อมจะนำแนวทางที่ รมว.คลัง มอบหมายไปดำเนินการ โดยจะต้องหารือร่วมกับอุตสาหกรรมประกันภัย เพื่อจัดทำแผนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยมาเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา ซึ่งที่ผ่านมา คปภ.ได้มีการส่งเสริมอยู่แล้ว เช่น การจัดทำประกันภัยเฉพาะโรค ที่มีเบี้ยราคาถูกหลักร้อยบาทให้ประชาชนได้ซื้อ

สำหรับในครึ่งแรกของปีนี้ ธุรกิจประกันมีเบี้ยประกันรับโดยตรงอยู่ที่ 406,869 ล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกิจประกันชีวิต 285,402 ล้านบาท ธุรกิจประกันวินาศภัย 121,467 ล้านบาท โดยธุรกิจประกันภัยมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 4.61 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อ GDP อยู่ที่ 5.3% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ต.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top