สหรัฐเริ่มทดสอบยาปรับภูมิคุ้มกัน รักษาผู้ป่วยโควิด-19 อาการรุนแรง

สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐ (NIH) ประกาศเริ่มการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 เพื่อประเมินความปลอดภัยและประสิทธิภาพของการใช้ยาปรับภูมิคุ้มกัน 3 ตัวในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) วัยผู้ใหญ่ที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

ผู้ป่วยโรคโควิด-19 บางรายเผชิญกับการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่มีการปล่อยโปรตีนในปริมาณที่มากเกินไปจนก่อให้เกิดการอักเสบ การทดลองทางคลินิกครั้งนี้จึงมุ่งตรวจสอบว่าการปรับการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันจะช่วยลดความจำเป็นในการใช้เครื่องช่วยหายใจและย่นระยะเวลาการรักษาตัวในโรงพยาบาลได้หรือไม่

สถาบันออกแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ ระบุว่า การทดลองแอคทีฟ-1 อิมมูน โมดูเลเตอร์ (ACTIV-1 Immune Modulators) จะตรวจสอบว่าการรักษาด้วยยาปรับภูมิคุ้มกันดังกล่าวจะสามารถคืนความสมดุลให้กับระบบภูมิคุ้มกันที่ทำงานมากเกินไปได้หรือไม่ โดยจะรับสมัครผู้ใหญ่ที่รักษาตัวด้วยโรคโควิด-19 อาการปานกลางถึงรุนแรง ราว 2,100 ราย จากสถานพยาบาลในสหรัฐและลาตินอเมริกา

สถาบันเผยว่าผู้เข้าร่วมทดลองทุกคนจะได้รับยาเรมซิเดเวียร์ (remdesivir) ซึ่งปัจจุบันถูกกำหนดเป็นมาตรฐานสำหรับรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาล ส่วนน้ำเลือดหรือพลาสมาที่มีโปรตีนภูมิคุ้มกัน (convalescent plasma) และยาเดกซาเมธาโซน (dexamethasone) จะได้รับอนุญาตให้ใช้ตามดุลยพินิจของสถานพยาบาลแต่ละแห่งและเป็นไปตามแนวปฏิบัติของประเทศ

ขณะเดียวกันผู้เข้าร่วมทดลองจะถูกสุ่มให้รับยาหลอกหรือหนึ่งในยาปรับภูมิคุ้มกันเป็นยาเสริม โดยการทดลองจะศึกษาข้อกำหนดการรักษาแบบผสมผสานที่แตกต่างกัน ซึ่งคำนึงถึงความรุนแรงของอาการป่วย ความรวดเร็วในการฟื้นตัว อัตราการเสียชีวิต และการใช้ทรัพยากรในโรงพยาบาล

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ต.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top