เพื่อไทย เตรียมยื่นฟ้องศาลยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินใน กทม.

นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ร่วมแถลงข่าวเตรียมยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร

โดยเห็นว่า ผลพวงที่มาจากการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ทำให้เกิดความรุนแรงระหว่างการชุมนุม ซึ่งตนในฐานะนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย มองว่าการออกพ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติตามมาตรา 4, 5, 9 และ 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากไม่มีเหตุผลเพียงพอในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีกทั้งมองว่าการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ยังอยู่ในกรอบของกฎหมายเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ปราศจากการใช้อาวุธ และมีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการยุติการชุมนุม ซึ่งถือเป็นการใช้สิทธิ์โดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญในการแสดงออกด้วยสิทธิเสรีภาพและความคิดเห็น

ที่สำคัญในการชุมนุมของกลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เมื่อปี 2556 ตนได้เคยยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าการชุมนุมดังกล่าว มีความรุนแรง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลังยื่นเรื่อง 7 วัน ศาลได้มีคำวินิจฉัยว่าการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เป็นการชุมนุมที่อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นตนจึงจะนำเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวมาใช้เทียบเคียง

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (20 ต.ค.) เวลา 10.00 น จะไปยื่นร้องต่อศาลแพ่งรัชดาฯ และขอให้ศาลพิพากษาทันที โดยทั้งหมดจะอยู่รอฟังคำวินิจฉัยว่าเป็นโมฆะหรือไม่ ซึ่งหากเป็นโมฆะเท่ากับว่าคำสั่งหมายจับหมายเรียกทั้งหมดจะต้องเป็นโมฆะไปด้วย

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนในฐานะโจทก์ร่วมฟ้อง มองว่าการออกพ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้ ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งนิยามของคำว่าสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงที่ไม่เข้าข่าย มีการอ้างถึง พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ และการรบกวนขบวนเสด็จ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดได้สิ้นสุดลงแล้ว และชัดเจนว่าไม่ใช่เป็นความผิดของประชาชน เนื่องจากได้มีคำสั่งย้าย 3 นายตำรวจที่รับผิดชอบสถานการณ์ จึงถือเป็นความผิดของตำรวจ รวมถึงการอ้างสถานการณ์โควิด และปัญหาเศรษฐกิจซึ่งทั้งสองเรื่องไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม

อีกทั้งยังพบว่านายกรัฐมนตรีลุแก่อำนาจ เพราะในมาตรา 5 วรรค 2 มีการกำหนดเวลาในการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องไม่เกิน 3 เดือน แต่ในการออกพ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้ มีการกำหนดวันประกาศตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคมเวลา 04.00 น.เป็นต้นไป แต่ไม่มีการระบุวันที่สิ้นสุด ทั้งนี้ในการยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งมี 2 ประเด็นสำคัญคือ 1.ขอให้ศาลแพ่งเพิกถอน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ข้อกำหนดและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง และ 2.ขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี และไต่สวนฉุกเฉินด้วย

ทั้งนี้ หากศาลมีคำสั่งว่าการออกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาจจะร้องต่อศาลให้ดำเนินการเอาผิดนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ที่ออกพ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยไม่ชอบด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ต.ค. 63)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top