สธ.ตรวจคุณภาพอากาศ-สิ่งแวดล้อมไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพคนหลังท่อก๊าซระเบิด

กระทรวงสาธารณสุข ให้การดูแลรักษาผู้บาดเจ็บ กรณีท่อส่งก๊าซระเบิด จ.สมุทรปราการ ขณะนี้รักษาตัวอยู่ในรพ. 24 ราย กลับบ้านได้แล้ว 38 ราย เบื้องต้นตรวจสอบคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า วันนี้ได้รับรายงานจาก นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 6 ถึงกรณีเหตุการณ์ท่อส่งก๊าซระเบิดในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย (สุวรรณภูมิ) ที่จังหวัดสมุทรปราการ นั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 รายและได้รับบาดเจ็บ 62 ราย ขณะนี้กลับบ้านได้แล้ว 38 ราย บาดเจ็บและรับการรักษาอยู่ 24 ราย โดยแบ่งอาการตามระดับความรุนแรง สีแดงจำนวน 6 ราย (ใส่ท่อช่วยหายใจ 4 ราย) สีเหลือง 9 ราย และสีเขียว 9 ราย ซึ่งทั้งหมดเข้ารับการรักษารพ.ในพื้นที่ และส่งต่อไปยังรพ.จังหวัดใกล้เคียง ดังนี้เผยท่อส่งก๊าซระเบิดในสมุทรปราการตรวจสอบไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน

  1. โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 เป็นเพศชาย 1 ราย เพศหญิง 1 ราย อาการอยู่ในระดับสีเขียว
  2. โรงพยาบาลบางบ่อ เป็นเพศชาย 1 ราย เพศหญิง 2 ราย อาการอยู่ในระดับสีเหลือง
  3. โรงพยาบาลรามาธิบดี วิทยาเขตพญาไท เป็นเพศหญิง 1 ราย อาการอยู่ในระดับสีแดง
  4. โรงพยาบาลพุทธโสธร เป็นเพศชาย 3 ราย อาการอยู่ในระดับสีแดง 1 ราย,สีเหลือง 2 ราย
  5. โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เป็นเพศชาย 1 ราย อาการอยู่ในระดับสีแดง
  6. โรงพยาบาลไทยนครินทร์ เป็นเพศชาย 2 ราย เพศหญิง 1 ราย อาการอยู่ในระดับสีแดง 1 ราย ,สีเหลือง 2 ราย
  7. โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ เป็นเพศชาย 1 ราย อาการอยู่ในระดับสีแดง
  8. โรงพยาบาลลาดกระบัง เป็นเพศชาย 3 ราย เพศหญิง 3 ราย อาการอยู่ในระดับสีแดง 1 ราย,สีเหลือง 1 ราย,สีเขียว 4 ราย
  9. โรงพยาบาลสิรินธร เป็นเพศชาย 1 ราย อาการอยู่ในระดับสีเหลือง
  10. โรงพยาบาลรวมชัยประชารักษ์ เป็นเพศชาย 1 ราย เพศหญิง 2 ราย อาการอยู่ในระดับสีเขียว

นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลอย่างเต็มที่ รวมทั้งส่งทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สอบสวนโรค คัดกรองสุขภาพประชาชน และตรวจคุณภาพอากาศ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าพื้นที่นั้นปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อสุขภาพประชาชน

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จากกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ และแพทย์อาชีวเวชศาสตร์จากโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ลงพื้นที่สอบสวนเพื่อเฝ้าระวังและคัดกรองสุขภาพประชาชน ในพื้นที่จุดเกิดเหตุตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ พบว่าส่วนใหญ่มีอาการแสบตา แสบคอ แสบจมูก เท้าบวม และมีอาการแสดงเล็กน้อย อาทิ เหนื่อยง่าย ปวดศรีษะ คัดจมูก มีผื่นแดง คันตามร่างกาย

นอกจากนี้ยังได้ลงพื้นที่ตรวจวัดคุณภาพอากาศจำนวน 5 จุด ได้แก่

  1. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านตะวันใหม่
  2. โรงเรียนเปร็งวิสุทยาธิบดี
  3. อบต.เปร็ง
  4. บ้านเลขที่ 114/1 หมู่ 4 ตำบลเปร็ง
  5. วัดเปร็ง

ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในอาคาร โดยเครื่องตรวจวิเคราะห์คุณภาพอากาศภายในอาคารแบบอ่านค่าโดยตรง (IAQ) ตรวจวัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซฟอร์มัลดีไฮด์ ไฮโดรเจนซัลไฟล์ ก๊าซโอโซน ฝุ่น PM10 และ ฝุ่น PM2.5 พบว่าไม่เกินค่ามาตรฐานในทุกจุดตรวจวัด (อ้างอิงตามมาตรฐานคุณภาพภายในอาคารประเทศสิงคโปร์ 2009 ) และผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศภายนอกอาคาร โดยเครื่องมือตรวจวัดปริมาณแก๊สในอากาศ ตรวจวัดเบนซีน, เอทิลีน, โทลูอีน, ไซลีน, สไตรีน พบว่าทั้ง 5 จุดปริมาณสารเคมีดังกล่าว ไม่เกินค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจ ระดับ 1 ตามประกาศกรมควบคุมมลพิษเรื่องค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ต.ค. 63)

Tags: , ,
Back to Top