ASEM ให้ความสำคัญกับการแสวงหาแนวทางการรับมือโควิด-19 ที่ยั่งยืน

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Finance Ministers’ Meeting: ASEM FinMM) หรืออาเซมครั้งที่ 14 ในรูปแบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 ณ ห้องประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ (นาย A H M Mustafa Kamal) เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกอาเซม ทั้งจากยุโรป และเอเชีย รวม 43ประเทศ รวมถึงผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป สำนักเลขาธิการอาเซียน ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ มูลนิธิเอเชีย-ยุโรป และสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 เข้าร่วมการประชุม ซึ่งหัวข้อหลักที่ใช้ในการหารือคือการสร้างความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งยั่งยืนทั่วถึงและสมดุลจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (Addressing COVID-19: Ensuring a Strong,Sustainable, Inclusive and Balanced Recovery)

โดยมีสาระที่สำคัญ ดังนี้

1.การระบาดของโควิด-19 นำมาซึ่งความท้าทายที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ต่อนานาประเทศทั่วโลก ทั้งยังได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการจ้างงาน รายได้ การประกอบธุรกิจ การลงทุน การค้า และวิถีการดำรงชีวิตประจำวันโดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบางรวมไปถึงผลกระทบต่อความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) โดยที่ประชุมได้แสดงความกังวลถึงผลกระทบที่เกิดจากการระบาดระลอก 2 ที่มีต่อประเทศสมาชิก

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 1 ล้านคน โดยผู้แทนจากธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้นำเสนอภาพรวมการรับมือกับ โควิด-19 ของประเทศต่าง ๆ โดยใช้นโยบายการทางการเงินและการคลังมาใช้เป็นมาตรการพื้นฐานซึ่งส่งผลกระทบถึงความท้าทายในการรักษาระดับหนี้สาธารณะและความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ นอกจากนี้ ได้มีข้อเสนอแนะในการให้ความสำคัญกับการนำระบบเศรษฐกิจดิจิทัลมาปรับใช้ และพัฒนาขีดความสามารถของแต่ละประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งการให้ความสำคัญกับความร่วมมือกันระหว่างประเทศเพื่อก้าวข้ามวิกฤตทางเศรษฐกิจจาก โควิด-19 โดยเฉพาะการช่วยเหลือกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด(Least Developing Countries)

2.การประชุม ASEM FinMM ในครั้งนี้ประเทศสมาชิกได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรับมือและการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 โดยในส่วนของประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวต่อที่ประชุมถึงมาตรการที่รัฐบาลไทยใช้ในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา อาทิ การตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการด้านนโยบายการรับมือและกระตุ้นเศรษฐกิจ การออกมาตรการการเงินและการคลังเพื่อช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น อาทิ เงินช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการว่างงาน สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การขยายระยะเวลาชำระหนี้ของธนาคารพาณิชย์แก่บริษัทและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มาตรการเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวภายในประเทศ เป็นต้น โดยมาตรการเหล่านี้ล้วนมีการดำเนินการอย่างระมัดระวังภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง

พร้อมกันนี้ ยังได้ชี้แจงต่อที่ประชุมเพิ่มเติมถึงความจริงจังของประเทศไทยในการรักษาความสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นและการปฏิรูปโครงสร้างของประเทศในระยะยาว ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจท้องถิ่นให้สามารถพึ่งพาตนเองได้มากยิ่งขึ้น โดยมุ่งที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเสริมสร้างการเชื่อมโยงภายในประเทศและระหว่างประเทศ และการพัฒนาการใช้ระบบดิจิทัลและนวัตกรรมทางการเงินให้ครอบคลุมทุกกลุ่มผู้ใช้งานในแต่ละกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยระบบดิจิทัลจะช่วยให้การติดต่อสื่อสารและส่งผ่านข้อมูลมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนในการดำเนินการ และสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีของภาครัฐ โดยการทบทวนการปฏิรูประบบภาษีให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศ และเอื้อต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ตลอดจนเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว นอกจากนี้ จะมีการพิจารณามาตรการระยะยาวเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางทางสังคม อาทิ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ของประเทศสมาชิก แสดงให้เห็นว่า การบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งต่อเศรษฐกิจและสังคม การควบคุมและป้องกันการระบาด การประคับประคองผู้ประกอบการและธุรกิจ และการคิดค้นและแสวงหาแนวทางการรับมือโควิด-19 ที่ยั่งยืน ล้วนเป็นประเด็นที่ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญ และอาเซมยังคงเชื่อมั่นในการสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็ง และความเข้าใจอันดีระหว่างกันของ 2 ภูมิภาค โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศสมาชิกล้วนประสบกับความยากลำบาก และความท้าทายอันเกิดจากโควิด-19

อนึ่ง การเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวของไทยเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการเมืองการต่างประเทศและความมั่นคงซึ่งจะช่วยยกระดับศักยภาพของไทยในหลากหลายมิติ และผลักดันให้เกิดความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องรวมไปถึงส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในฐานะหุ้นส่วน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับต่างประเทศเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 พ.ย. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top