ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 382 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ-ค้นหาเชิงรุก 374 ราย

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 5,289 คน (+382)
    • เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ = 14 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว (คัดกรองเชิงรุก) = 360 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 8 ราย
  • เป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศไม่เข้ากักกัน = 0 ราย
  • รักษาหายแล้ว 4,053 คน (+12)
  • ผู้ป่วยรักษาอยู่โรงพยาบาล 1,176 คน (+370)
  • เสียชีวิตสะสม 60 คน (+0)

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 382 ราย แบ่งเป็น

  • การติดเชื้อในประเทศ 14 ราย จากอยุธยา 1 ราย นครปฐม 2 ราย สมุทรปราการ 3 ราย สมุทรสาคร 5 ราย กทม. 2 ราย ตาก 1 ราย และ การติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างด้าวด้วยการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 360 ราย
  • ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้าสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (Quarantine Facilities) 8 ราย ประกอบด้วย สหราชอาณาจักร 1 ราย สหรัฐอเมริกา 3 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย ยูเครน 1 ราย คูเวต 1 ราย ซูดาน 1 ราย

ดังนั้น จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 5,289 ราย เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 3,385 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 1,904 ราย ส่วนผู้ป่วยรักษาหายแล้วอีก 12 ราย รวมเป็น 4,053 ราย ยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,176 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 60 ราย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-1 (ศบค.) เปิดเผยว่า ผู้ป่วยที่พบว่ามีการติดเชื้อจากในประเทศ 14 รายของวันนี้ ส่วนใหญ่พบว่ามีความเชื่อมโยงกับตลาดกลางกุ้ง ที่ จ.สมุทรสาคร โดยผู้ป่วยแต่ละรายได้แยกกันเข้าไปรับการรักษาตาม รพ.ต่างๆ แล้ว ทั้งใน จ.สมุทรสาคร, นครปฐม, สมุทรปราการ และในกรุงเทพฯ อย่างไรก็ดี ยังมีบางรายที่จะต้องมีการสอบสวนไทม์ไลน์เพิ่มเติม

สำหรับผู้ติดเชื้อที่เป็นแรงงานชาวเมียนมา 360 คนในวันนี้เป็นการตรวจค้นหาในเชิงรุก โดยส่วนใหญ่มากกว่า 90% พบเชื้อ แต่ไม่แสดงอาการ ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนี้จะมียอดผู้ติดเชื้อทยอยเพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอน เพราะแรงงานเมียนมาใน จ.สมุทรสาคร มีการอยู่อาศัยรวมกันเป็นกลุ่มภายในหอพักเดียวกัน โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรอรายงานผลตรวจทางห้องปฏิบัติการอีก 2,600 คน ซึ่งในแผนงานที่กระทรวงสาธารณสุขวางไว้ คือจะมีการตรวจหาเชื้อในกลุ่มที่มีความเชื่อมโยงกับกรณีถึง 10,300 คน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การดูแลแรงงานเมียนมาที่เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 นี้ ได้ใช้ Model จากประเทศสิงคโปร์เป็นแนวทางในการปฏิบัติ โดยเป็นโรงพยาบาลสนาม ประมาณ 100 เตียงตั้งอยู่ในบริเวณนั้น จะมีการจำกัดพื้นที่ไม่ให้เข้า-ออกนอกหอพัก และมีการติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง หากใครมีอาการรุนแรงก็จะเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลในรูปแบบของ รพ.สนาม

“เรามีการจัดตั้ง รพ.สนาม ไม่ได้เอาคนออกมา การออกแบบวิธีการดูแลแบบนี้ เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ เราจะให้เขาอยู่ในหอพัก ถ้ามีการติด ก็จะติดอยู่ในวงจำกัด เป็นโมเดลที่สิงคโปร์ทำ…ระบบนี้ อาจจะต้องใช้เวลานานหน่อย หลายสัปดาห์ อาจจะเป็นเดือน จะคุมให้อยู่ในวงนี้ ทุกคนที่อยู่ในนี้จะมีระบบสาธารณสุขดูแล มีการส่งข้าว ส่งน้ำให้ หากมีอาการเจ็บป่วย ขอให้รีบแสดงตัว ผู้ว่าฯ สมุทรสาครให้ความมั่นใจว่าจะดูแลได้ อยากให้ทุกคนที่อยู่ในนั้น (หอพัก) มีภูมิคุ้มกัน สามารถต่อสู้กับโรคได้ และขอความร่วมมืออย่าออกไปที่อื่น” โ

ฆษก ศบค.ระบุ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า ในช่วงเช้าที่ผ่านมา รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงได้เข้าประชุมร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. โดยได้มีการรายงานความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร และจังหวัดอื่นๆ ที่มีความเชื่อมโยง ซึ่งในปัจจุบันที่ จ.สมุทรสาคร ได้มีการล็อกดาวน์บางพื้นที่ เพื่อให้การระบาดอยู่ในวงจำกัด ซึ่งเป็นการสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัด ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์การระบาดมีความเชื่อมโยงไปหลายจังหวัด นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขไปพิจารณาและเตรียมจัดทำเป็นหลักเกณฑ์เผื่อไว้ หากมีความจำเป็นจะต้องล็อกดาวน์หลายจังหวัด หรือล็อกดาวน์ทั่วประเทศว่าจะใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณา และให้นำกลับมาหารือกันอีกครั้ง

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรียังขอให้พิจารณาถึงกรณีการขนส่งสินค้าไปในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ด้วยว่าจะมีการเข้าไปดูแลอย่างไร จะมีการใช้มาตรการแบบตามแนวชายแดนเพื่อสร้างความมั่นใจในเรื่องของผู้ขนส่งสินค้าด้วยหรือไม่ เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับประชาชนผู้บริโภคอาหารจากแหล่งที่มาของ จ.สมุทรสาคร

วนกรณีของสถานศึกษาก็ขอให้มีการดูแล โดยเฉพาะในโรงเรียนเด็กเล็ก ส่วนการชุมนุมทางการเมือง ในช่วงนี้อาจจะยังไม่เหมาะสมที่จะมีการมารวมตัวกันของคนจำนวนมาก พร้อมกับพิจารณาการให้ทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับ จ.สมุทรสาครด้วย

โฆษก ศบค. ยังกล่าวถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของภาครัฐและเอกชนว่า ขณะนี้อาจจะต้องรอรวบรวมข้อมูลสถานการณ์การระบาดในประเทศอีกสักสัปดาห์ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาตัดสินใจว่าแต่ละภาคส่วนสมควรที่จะจัดกิจกรรมดังกล่าวได้หรือไม่ เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์การระบาดใน จ.สมุทรสาคร เพิ่งเกิดขึ้นและมีข้อมูลเพียง 2-3 วันเท่านั้น ซึ่งยากต่อการนำข้อมูลนี้มาใช้ประกอบการตัดสินใจ เพราะยังมองไม่เห็นแนวโน้มที่ชัดเจน

“เราเพิ่งผ่านข้อมูลมาได้ 2-3 วัน ยังไม่รู้ว่าแนวโน้มจะมากขึ้นหรือลดลงอย่างไร อาจจะต้องรอดูอีกสัก 7 วัน แต่หากนับไปถึงตรงนั้น ก็วันที่ 28 ธ.ค. จะกระชั้นชิดไปหรือไม่ที่จะให้เอกชนได้ตัดสินใจว่าจะจัดกิจกรรมได้หรือไม่ ตอนนี้ตอบยากว่าควรจะจัดได้หรือไม่…ขอดูข้อมูลของแต่ละวันก่อน เพื่อให้ภาคเอกชนได้นำข้อมูลตัวเลขนี้ไปพิจารณาดูความเสี่ยงในการจัดงานของท่านเอง ว่าคนจะมางานหลักร้อย หลักพัน จัดแล้วจะเสี่ยงติดโรคหรือไม่ หรือจัดแล้วจะเสี่ยงที่ไม่มีใครมางานหรือไม่ ทางกระทรวงสาธารณสุข และ ศบค.จะรายงานตัวเลขให้ท่านตัดสินใจ เราต้องมาแชร์ความรับผิดชอบร่วมกัน แต่หากจะให้วิเคราะห์ในตอนนี้ คงยังเร็วเกินไป” นพ.ทวีศิลป์ระบุ

ด้าน นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ได้มีการตรวจหาเชื้อจากผู้ที่มีความเชื่อมโยงกับสถานที่ดังกล่าวแล้ว 4,688 คน โดยมีผลตรวจออกแล้ว 1,861 คน และยังอยู่ระหว่างรอผลตรวจอีก 2,600 คน ซึ่งคาดว่าในช่วงบ่ายวันนี้ ก็จะมีการรายงานผลตรวจเพิ่มเติม

“การพบรายงานผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น มีตัวเลขที่ update ทุกวัน ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าระบบเฝ้าระวังโรคของไทยได้ถูก Alert แล้วในทุกพื้นที่ ระบบเฝ้าระวังทำงานได้ดี และเจ้าหน้าที่ทำงานอย่างเข้มแข็ง เพราะมีการตรวจจับเพิ่มมากขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องดีในทางระบาดวิทยา ดังนั้นขอว่าอย่าตื่นตระหนกกับตัวเลขที่ออกมารายวัน หรือรายชั่วโมง แต่ควรให้ความสำคัญกับการป้องกันตนเองมากกว่า”

นพ.วิชาญกล่าว

พร้อมระบุว่า สมมติฐานการระบาดของไวรัสโควิดที่ตลาดกลางกุ้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาหลายคนให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า น่าจะมีจุดเริ่มต้นมาจากแรงงานเมียนมา เนื่องจากการค้นหาหรือการตรวจในเชิงรุกพบว่ามีการติดเชื้อกันในกลุ่มแรงงานเมียนมามากกว่า 90% ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการเคลื่อนย้ายของแรงงานเมียนมาจากต่างประเทศในช่วงการระบาด และนำมาสู่การแพร่สู่ชุมชนของชาวเมียนมาที่มีอยู่เดิมแล้วในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร

แต่ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพิสูจน์ข้อสมมติฐานดังกล่าว จะได้มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อ เพื่อดูว่ามีความเชื่อมโยงกับการระบาดในพื้นที่ใด หรือกรณีใดบ้าง ซึ่งสาเหตุที่เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างครั้งนี้ เชื่อว่ามาจากพฤติกรรมการอยู่รวมกันอย่างแออัดของแรงงานเมียนมาในพื้นที่พักอาศัย และไม่มีการปฏิบัติตามหลักสาธารณสุขในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การล้างมือ หรือการสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีการแพร่ระบาดในวงกว้างกับแรงงานกลุ่มนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ธ.ค. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top