SCB EIC คาดกนง.คงดอกเบี้ยต่อถึงปี 64 เพื่อประคองศก. หากโควิดไม่ระบาดรุนแรง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อเนื่องในปี 64 เพื่อรักษาขีดความสามารถในการผ่อนคลายนโยบายการเงินไว้ (policy space) เพื่อรองรับความเสี่ยงด้านต่ำของเศรษฐกิจในอนาคตที่อาจมาจากการระบาดที่รุนแรงขึ้น หรือประสิทธิภาพและความสามารถในการแจกจ่ายวัคซีนน้อยกว่าคาด เป็นต้น

หลังจากเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.63 ได้มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี พร้อมทั้งประเมินเศรษฐกิจไทยในปีนี้หดตัว -6.6% และจะกลับมาขยายตัวที่ 3.2% ในปี 64 และ 4.8% ในปี 65 นั้น

สำหรับสาเหตุที่ SCB EIC คาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อเนื่องนั้น เนื่องจาก

  1. แม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวแต่เป็นไปอย่างช้า ๆ และไม่ทั่วถึง รวมถึงยังมีความเสี่ยงด้านต่ำและความไม่แน่นอนสูง โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวเพียง 3.2% และมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่มาก ประกอบกับมุมมองของ EIC ที่ประเมินว่า รอยแผลเป็นทางเศรษฐกิจจะยังส่งผลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย สะท้อนจากการเปิดกิจการที่น้อยลง การปิดกิจการที่มากขึ้น และภาวะตลาดแรงงานที่ยังคงเปราะบางจากการว่างงานที่ยังคงสูง ชั่วโมงการทำงานที่ต่ำ และจำนวนแรงงานนอกระบบที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจึงจะเป็นไปอย่างช้า ๆ
  2. ภาระหนี้ของทั้งครัวเรือนและภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นหลังเผชิญวิกฤต โดยตัวเลขหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2 ปี 63 อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 83.8% ต่อ GDP ขณะที่ข้อมูลของ IIF ก็บ่งชี้ว่าหนี้ภาคธุรกิจปรับสูงขึ้นเช่นกัน จึงทำให้ในระยะต่อไป ครัวเรือนและธุรกิจจะต้องซ่อมแซมงบดุลที่อ่อนแอลง ส่งผลให้การใช้จ่ายและการลงทุนมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ดังนั้น ระดับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจะเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่ายในระบบเศรษฐกิจ
  3. แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำในปี 64 โดยอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มอยู่ ณ ระดับต่ำกว่าระดับเป้าหมายต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี 64

อย่างไรกีดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายมาตรการทางการเงิน ผ่านเครื่องมืออื่น ๆ ได้ ดังนี้

  1. ผ่อนคลายเกณฑ์ของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) เพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินปล่อยกู้มากขึ้น โดยในปัจจุบันผู้ที่สามารถเข้าถึงมาตรการสินเชื่อ soft loan มีค่อนข้างต่ำ จากข้อมูลล่าสุดมียอดอนุมัติสินเชื่อเพียง 1.2 แสนล้านบาทจากวงเงินทั้งหมด 5 แสนล้านบาท โดยเฉพาะสินเชื่อที่มีวงเงินน้อยมีอัตราการเข้าถึง soft loan ที่ค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ การขยายตัวของสินเชื่อของ SMEs ก็ยังหดตัวต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถาบันการเงินไม่มีแรงจูงใจมากพอที่จะปล่อยกู้ ดังนั้น ธปท. จึงมีแนวโน้มที่จะออก พ.ร.ก. soft loan ฉบับใหม่ เพื่อผ่อนคลายข้อจำกัดของมาตรการเดิม โดยกฏเกณฑ์ที่อาจถูกปรับได้ เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินนำไปปล่อยกู้ จากระดับปัจจุบันที่ 2%, การปล่อยกู้ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ให้แก่ SMEs, การขยายวงเงินกู้ จากเดิมที่กู้ได้ไม่เกิน 20% ของยอดสินเชื่อคงค้าง และการขยายวงเงินค้ำประกันโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
  2. คงมาตรการกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) และมาตรการช่วยเหลือกองทุนรวมที่ได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน (MFLF)

SCB EIC ระบุว่า 2 มาตราการนี้ เป็นมาตรการประเภทหลังพิง (Backstop) ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่โควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง นอกจากนี้ หากนักลงทุนเกิดความกังวลสูง จนทำให้เกิดการเทขายสินทรัพย์อย่างรวดเร็วและตลาดการเงินขาดสภาพคล่อง มาตรการข้างต้นนี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน ทั้งแก่ภาคธุรกิจและกองทุนรวมตราสารหนี้

อย่างไรก็ดี โอกาสในการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) และดำเนินมาตรการโกดังพักหนี้ (Warehousing) มีน้อยลงภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน โดยจากการสื่อสารของผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ยังมีความสามารถที่จะจัดการสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPL ratio) ได้ แม้ว่ายอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพจะปรับสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ธปท. ยังมองว่ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้ดำเนินไปตั้งแต่ต้นปีช่วยแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดกว่า สะท้อนจากยอดหนี้ของธนาคารพาณิชย์ที่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ หลังจากมาตรการพักหนี้สิ้นสุดลงในเดือนต.ค.สูงถึง 66% ของยอดหนี้ทั้งหมด ในขณะที่อีก 32% อยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้เป็นรายกรณี และมีเพียงแค่ 2% เท่านั้นที่ยังไม่สามารถติดต่อได้ ซึ่ง ธปท. ได้มีการเร่งรัดให้ธนาคารพาณิชย์ติดต่อดูแลโดยเร็ว

ทั้งนี้ หากการระบาดของโควิด-19 ในไทยล่าสุด ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรงกว่าที่ กนง.ประเมินไว้ในรอบนี้ ก็มีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะถูกปรับลงได้อีก 1 ครั้ง (0.25%) สำหรับในกรณีฐาน EIC ประเมินว่าการระบาดของโควิด-19 จะยังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ ทำให้ภาครัฐไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการปิดเมืองอย่างเข้มงวดเหมือนในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ เศรษฐกิจไทยจึงมีแนวโน้มไม่หดตัวรุนแรงเท่ากับในช่วงดังกล่าว

อย่างไรก็ดี หากการแพร่ระบาดยังไม่ทุเลาลง และจำเป็นต้องมีการออกมาตรการปิดเมืองที่เข้มงวดขึ้นมากและเป็นวงกว้าง ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าฟื้นตัวช้ากว่าที่ กนง. และ EIC ประเมินไว้ในกรณีฐาน ซึ่งอาจทำให้มีการพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมได้อีก 1 ครั้ง (0.25%)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ธ.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top