เงินเฟ้อ ธ.ค.62 เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 เดือน เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 0.71%

  • กระทรวงพาณิชย์ เผยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ 0.87% เพิ่มขึ้น 0.01% จากเดือน พ.ย. 62
  • กระทรวงพาณิชย์ เผยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2562 อยู่ที่ 0.71%
  • กระทรวงพาณิชย์ เผยแนวโน้มเงินเฟ้อในปี 2563 คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 0.4-1.2% หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 0.8% ซึ่งเป็นระดับที่ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือน ธ.ค.62 อยู่ที่ 102.62 ขยายตัว 0.87% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.01% จากเดือน พ.ย.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 62 อยู่ที่ 0.71%

“ภาพรวมเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ธ.ค.62 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 เดือน ถือเป็นตัวเลขที่มีเสถียรภาพ สาเหตุสำคัญจากราคาอาหารสดและการหดตัวของราคาพลังงานที่หดตัวน้อยสุดในรอบ 8 เดือน” น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวในการแถลงข่าวเช้าวันนี้

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (CORE CPI) เดือน ธ.ค.62 อยู่ที่ 102.80 ขยายตัว 0.49% จากช่วงเดียวของปีก่อน และขยายตัว 0.03% จากเดือน พ.ย.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยทั้งปี 62 ขยายตัว 0.52%

ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 104.40 ขยายตัว 1.73% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัว -0.13% จากเดือน พ.ย.62 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 101.63 ขยายตัว 0.38% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.09% จากเดือน พ.ย.62

สนค.ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 62 ยังอยู่ในกรอบคาดการณ์ที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 0.7-1.0% ส่วนปี 63 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วง 0.4-1.2%

น.ส.พิมพ์ชนก เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนธ.ค.62 สูงขึ้น 0.87% เป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขยายตัวอย่างช้าๆ และต่อเนื่องของเงินเฟ้อพื้นฐาน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการช่วยเหลือภาคเกษตรของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสนับสนุนให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น สะท้อนจากรายได้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บได้จากการบริโภคในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่กลับมาขยายตัวเป็นบวก และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ ส่งผลให้รายได้และความต้องการบริโภคของเกษตรกรเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี ตัวชี้วัดด้านอุปสงค์การลงทุน เช่น การจำหน่ายปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก รถยนต์เชิงพาณิชย์ รถจักรยานยนต์ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง และการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งน่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าปัจจัยเหล่านี้จะปรับตัวดีขึ้นได้ในปี 63

“หากสามารถผ่านงบประมาณรายจ่ายในปี 63 ได้ในช่วง ก.พ.ก็จะมีเม็ดเงินไปสู่การใช้จ่าย และการลงทุนภาครัฐ สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้อย่างเต็มที่ตามแผน และหากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพมากขึ้น ก็จะสนับสนุนให้การลงทุนของภาคเอกชนและการส่งออกขยายตัวได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มอุปสงค์และกำลังซื้อในประเทศ และทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในอัตราที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น” น.ส.พิมพ์ชนกระบุ

พร้อมมองว่า มาตรการของรัฐบาลในเรื่อง “ชิม ช้อป ใช้” ที่ออกมาในช่วงปลายปี 62 โดยเฉพาะชิม ช็อป ใช้ เฟสแรก มีส่วนช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคให้เติบโตได้พอสมควร แต่จะมาแผ่วลงบ้างในช่วงเฟสสอง ซึ่งเป็นผลจากที่ประชาชนมองว่ามีเงื่อนไขของการใช้ที่ยากขึ้นกว่าเฟสแรก

แนวโน้มเงินเฟ้อปี 2563 คาดเฉลี่ยอยู่ที่ 0.8%

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในปี 2563 คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 0.4-1.2% หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 0.8% ซึ่งเป็นระดับที่ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ขยายตัว 2.7-3.7% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ 58-68 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่อาจจะมีการทบทวนกรอบใหม่เป็น 60-70 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน ที่ระดับ 30-32 บาท/ดอลลาร์

“กรอบเงินเฟ้อที่ 0.4-1.2% เราได้รวมปัจจัยสงครามการค้าไว้แล้ว ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น…ส่วนปัจจัยเรื่องภัยแล้ง ก็ได้รวมไว้แล้ว แต่ทั้งนี้มองว่าภัยแล้งไม่ได้เป็นปัจจัยให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมาก” น.ส.พิมพ์ชนกระบุ

ผู้อำนวยการ สนค. มองว่าอัตราเงินเฟ้อปีนี้ยังคงเคลื่อนไหวในระดับที่มีเสถียรภาพ ราคาน้ำมันมีแนวโน้มทรงตัวตลอดทั้งปี ส่งผลให้เงินเฟ้อในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ยังได้รับอิทธิพลค่อนข้างมากจากราคาพลังงาน และจะค่อยๆ ลดอิทธิพลลงในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่ราคาอาหารสดจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องตามแนวโน้มสภาพอากาศที่กระทบต่อผลผลิต

สำหรับราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่นๆ น่าจะยังเคลื่อนไหวในระดับปกติ และมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นตามปัจจัยด้านการใช้จ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นกระทรวงพาณิชย์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 1/63 จะสูงขึ้น 0.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อน้อยมาก ซึ่งล่าสุดจนถึงขณะนี้ยังไม่พบว่ามีผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตสินค้ารายใดแจ้งขอปรับขึ้นราคาสินค้าจากเหตุผลของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 63

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ม.ค. 63)

Tags: ,
Back to Top