ตลท.เผยผลสำรวจ CEO มองโควิดวิกฤติหนักฉุดศก.ปี 64 คาดใช้เวลา 2-3 ปีฟื้น

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผย SET CEO SURVEY ต่อวิกฤติโควิด-19 โดยผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมองว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 64 โดยจะส่งผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ของไทยรุนแรงกว่าเหตุการณ์อื่นๆ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปีที่ผลประกอบการของ บจ.จะฟื้นตัวสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนการระบาด ขึ้นอยู่กับการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 และการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

ผลสำรวจระบุว่า วิกฤติการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของ บจ.มากน้อยแตกต่างกัน ซึ่งจากข้อมูลรายได้รวมและกำไรสุทธิรวมของ บจ.สะท้อนว่าได้รับผลกระทบจากแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าวิกฤติการณ์อื่นๆ เนื่องจากการแพร่ระบาดครั้งนี้เกิดผลกระทบทั่วโลก รวมทั้งเกิดซ้อนทับกับวิกฤติการเงินโลกที่กำลังดำเนินอยู่และเศรษฐกิจโลกอยู่ระหว่างฟื้นตัว

ขณะที่ บจ.ส่วนใหญ่นำนโยบาย Work From Home (WFH) มาใช้ และคาดว่าจะใช้ต่อเนื่องไปอีก 3-6 เดือน โดย บจ.ส่วนใหญ่จะทบทวนการใช้นโยบาย WFH ทุก 1-2 สัปดาห์ ซึ่งเงื่อนไขในการพิจารณาให้พนักงานเข้าทำงาน คือมีความคืบหน้าในการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันต่ำกว่า 100 คน และการขอความร่วมมือหรือมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)

และสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้ บจ.ปรับตัวมาใช้ระบบดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น แต่บางงานติดขัดเรื่องกฎหมายภาครัฐที่ปรับตัวไม่ทัน จึงขอให้ภาครัฐพัฒนากฎเกณฑ์และกระบวนงานรองรับการทำงานรูปแบบดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น

ตลท.ระบุอีกว่า กำไรสุทธิของ บจ.ในไตรมาส 1/64 ฟื้นตัวจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเติบโต 2.37 เท่าตัว หลังจากกำไรสุทธิรวมในปี 63 หดตัวกว่า 50% จากปี 62 จากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ในช่วงต้นเดือน เม.ย.64 การแพร่ระบาดกลับมารุนแรงเพิ่มมากขึ้นเป็นระลอก 3 สอดคล้องกับผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหาร บจ.ที่คาดว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญอันดับหนึ่งต่อเศรษฐกิจไทย

แม้ผลประกอบการในไตรมาส 1/64 มีทิศทางที่ดีขึ้น แต่จากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงความไม่ชัดเจนในการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ส่งผลให้ CEO ส่วนใหญ่ยังคงคาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปีนี้ต่อเนื่องจากปี 63 หมายความรวมถึงความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาด การจัดหาและกระจายการฉีดวัคซีน ขณะที่ความชะงักงันของการท่องเที่ยว และกำลังซื้อในประเทศที่ลดลง เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 2 และ 3

สำหรับปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 64 อันดับแรกยังคงเป็นเดิมจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมา คือ นโยบายการคลังและการใช้จ่ายภาครัฐ อันดับ 2 คือ กำลังซื้อในประเทศ ขยับมาจากอันดับที่ 4 จากการสำรวจครั้งก่อน และอันดับ 3 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

CEO ส่วนใหญ่ 89% มีความวิตกกังวลสูงสุดเกี่ยวกับกำลังซื้อในประเทศที่ลดลงจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งยังคงเป็นอันดับ 1 เช่นเดียวกับการสำรวจครั้งที่ผ่านมา อันดับรองลงมา 56% คือ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดย 56% ขยับขึ้นมาจากอันดับ 3 และต่อมาเป็นความวิตกกังวลเกี่ยวกับการคาดแคลนฝีมือแรงงาน ขยับจากอันดับ 4 ขณะที่ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าลดลงไปอยู่ที่อันดับ 7 จากเดิมอยู่ในอันดับ 2

CEO ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความวิตกกังวลอื่นๆ สรุปโดยรวมได้ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

1) การฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะเรื่องการจัดหาวัคซีน การกระจายการฉีดวัคซีน ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติตัวในกรณีการ lock down การปรับตัวของธุรกิจในการปรับอัตรากำลังให้สอดคล้องกับการทำงาน และผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อ Supply chain ของธุรกิจ

2) การบริหารจัดการบุคลากร ทั้งการบริหารอัตรากำลัง และการพยายามรักษาการจ้างงาน และ

3) การปฏิบัติตามกฎระเบียบภาครัฐ เนื่องจากบริษัทได้มีการปรับกระบวนงานต่างๆ ให้รองรับการทำงานดิจิทัล แต่กฎหมายภาครัฐยังเป็นรูปแบบเอกสารและต้องติดต่อตามสำนักงานต่างๆ จึงเสนอให้ภาครัฐปรับปรุงกฎหมายให้ทันการทำงานของภาคเอกชน รวมถึงกฎหมายใหม่ที่จะบังคับใช้ อาทิ กฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล เป็น เพราะส่งผลให้บริษัทต้องมีการปรับกระบวนงานเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าว

CEO มองว่ามาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่ช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน โดย บจ.ในแต่ละหมวดธุรกิจได้รับประโยชน์แตกต่างกันขึ้นอยู่กับการประเภทธุรกิจ โดยภาพรวม บจ.ต่างๆ ได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากมาตรการที่ช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน ขณะที่บางมาตรการส่งผลทางตรงกับธุรกิจ อาทิ

– โครงการ “เที่ยวด้วยกัน” “คนละครึ่ง” หรือ “เรารักกัน” ส่งผลต่อหมวดพาณิชย์ และหมวดท่องเที่ยวและโลจิสติกส์

– การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลต่อกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหาร บจ.โดยให้เปรียบเทียบผลการดำเนินงานปี 62-63 และระยะเวลาที่คาดว่าจะใช้ในการฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับเดียวกับปี 62 พบว่า 45% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามที่ประเมินว่าผลประกอบการปี 63 แย่กว่าปี 62 และ 21% ทรงตัว ขณะที่ 34% ประเมินว่าผลประกอบการดีขึ้น

โดยบริษัทส่วนใหญ่คาดว่าจะใช้เวลาฟื้นตัวอย่างน้อย 2-3 ปี หรือประมาณปี 65 ธุรกิจจึงจะสามารถกลับสู่ระดับเดียวกับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้นอยู่การความรวดเร็วในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top