สัมภาษณ์พิเศษ: CV ผ่าพอร์ตหุ้นโรงไฟฟ้าสู่เส้นทางกำลังผลิตโตเท่าตัว

เตรียมพร้อมเข้าสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) สำหรับหุ้น บมจ.โคลเวอร์ เพาเวอร์ (CV) หลังยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลเพื่อขอเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 320 ล้านหุ้นไปแล้ว

บริษัทปักธงก้าวขึ้นสู่ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนแบบครบวงจรตามแผนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวไม่น้อยกว่า 180 เมกะวัตต์ ตามแผน 3 ปี (64-66) จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 85 เมกะวัตต์

นายเศรษฐศิริ ศักดิ์สิทธิเสรีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CV เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ย้อนไปเมื่อ 7 ปีก่อนบริษัทเริ่มมองเห็นศักยภาพนอกเหนือจากการเป็นผู้รับเหมางานด้านวิศวกรรม (EPC Turnkey) บริการงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ก็เริ่มผันตัวเข้าสู่การลงทุนโรงไฟฟ้าของตัวเองเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับกระแสเงินสดของบริษัท

“การที่บริษัทเป็น EPC โครงการลงทุนโรงไฟฟ้าของบริษัทเอง นอกเหนือจากจะสามารถปิดช่องความเสี่ยงต่างๆ ได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังสามารถควบคุมต้นทุนควบคู่ไปกับงานก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น หมายความว่าจะส่งผลดีกับผลตอบแทนเรื่องของกำไรที่จะเกิดขึ้นด้วย ดังนั้นโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทจะมีต้นทุนที่ต่ำและมีผลตอบแทนที่สูงกว่าโครงการโรงไฟฟ้าทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ”

นายเศรษฐศิริกล่าว

ปัจจุบัน CV ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเป็นสัญญาการรับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) โดยทุกโครงการมีอายุสัญญาคงเหลือที่รับรู้เป็นรายได้เฉลี่ยกว่า 16 ปี ประกอบด้วย 4 โครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วรวมขนาดกำลังการผลิต26.2 เมกะวัตต์ (ปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขายตามสัดส่วนการถือหุ้น 16.69 เมกะวัตต์)

แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าชีวมวล 3 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าชีวมวล โคลเวอร์ เพาเวอร์ (CV) อ.วังชิ้น จ.แพร่ กำลังการผลิตติดตั้ง 9.4 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าชีวมวล โคลเวอร์ พิษณุโลก (CPL) อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก กำลังการผลิตติดตั้ง 4.9 เมกะวัตต์ และ โรงไฟฟ้าชีวมวล รุ่งทิวา ไบโอแมส (RTB) อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา กำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์
และโรงไฟฟ้าขยะ โคลเวอร์ พิจิตร (CPX) อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร กำลังการผลิตติดตั้ง 2 เมกะวัตต์

สำหรับภาพรวมผลประกอบปี 64 บริษัทคาดว่าจะเติบโตได้ดีกว่าปีก่อน แม้ว่าจะเผชิญกับสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ เนื่องจากปีที่ผ่านมาบริษัทเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้า 2 แห่งที่เพิ่งเริ่ม COD ช่วงกลางปีและปลายปี 63 ส่งผลให้ปี 64 บริษัทจะรับรู้รายได้โรงไฟฟ้าทั้ง 4 แห่งเข้ามาเต็มปี เป็นตัวแปรหลักผลักดันภาพรวมผลประกอบการตลอดทั้งปีนี้สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง

ส่วนแนวโน้มการเติบโตงานประเภท EPC Turnkey ปัจจุบันมีมูลค่างานในมือกว่า 300-400 ล้านบาทที่จะทยอยส่งมอบงานปีนี้ และส่วนมูลค่างานรอรับรู้รายได้ช่วงถัดไปหลังจากที่มีการเซ็นสัญญาแล้วมีมูลค่ากว่า 500-600 ล้านบาทเป็นหนึ่งปัจจัยบวกสร้างการเติบโตปีนี้ต่อเนื่องไปถึงปี 65

นายเศรษฐศิริ กล่าวว่า ธุรกิจงาน EPC Turnkey บริษัทมุ่งเน้นการให้บริการงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากเชื้อเพลิง ชีวมวล ขยะและก๊าซชีวภาพ และงานโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวเนื่องด้านพลังงาน โดยดำเนินงานให้บริการงานด้านการออกแบบ จัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์และก่อสร้างแบบครบวงจร ให้แก่โรงไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทฯ และลูกค้าทั่วไปมากกว่า 14 โครงการที่ดำเนินกิจการภายใต้ SBC และ SBE ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 100%

งาน EPC ถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าให้มีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพและนำจุดแข็งด้านทีมวิศวกรที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการก่อสร้าง การเดินเครื่องจักรและการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าทำให้มีความเข้าใจในเทคนิคการออกแบบ การเลือกใช้เทคโนโลยี การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมให้คำแนะนำแก่ลูกค้าในการควบคุมต้นทุนอย่างเหมาะสม จึงได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าเพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในลักษณะจ้างเหมาแบบครบวงจรมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบโครงการขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ มูลค่าโครงการตามสัญญาตั้งแต่ 50 ล้านบาท จนถึง 2,000
ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทยังมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับพลังงานหมุนเวียน (Power Plant Support) ด้วยคือการให้บริการเดินเครื่องและบำรุงรักษาให้แก่ลูกค้าโรงไฟฟ้าทั่วไป พร้อมมุ่งเน้นให้บริการเดินเครื่องและบำรุงโรงไฟฟ้ากลุ่มพลังงานจากพลังงานหมุนเวียน ที่ดำเนินกิจการภายใต้ SBE โดยบริษัทฯ มีทีมวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการปฎิบัติงานเดินเครื่องและบำรุงรักษาที่พร้อมให้บริการอย่างครบวงจร

สำหรับเป้าหมายภายใน 3 ปีข้างหน้า (64-66) บริษัทมีแผนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 180 เมกะวัตต์ โดยมุ่งขยายการลงทุนในธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานหมุนเวียน และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งบริษัทมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถขยายกำลังการผลิตได้ตามเป้าหมาย เพราะนอกเหนือจากเป็นการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าตามแผนแล้ว บริษัทก็มีแผนเข้าซื้อกิจการในประเทศที่เป็นธุรกิจพลังงานสะอาดคาดว่าจะชัดเจนภายในไตรมาส 3/64
ส่วนโครงการในต่างประเทศเป็นโครงการประเภทชีวมวล บริษัทเตรียมความพร้อมอย่างน้อย 40 เมกะวัตต์

และล่าสุดบริษัทยังได้การผ่านคุณสมบัติโรงไฟฟ้าขยะชุมชนจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ทั้งหมด 4 โครงการ ซึ่งสามารถขายไฟรวมได้ 24 เมกะวัตต์ หรือแบ่งเป็นขนาดกำลังการผลิตโครงการละ 6 เมกะวัตต์จากที่ยื่นไปทั้งหมด 8 โครงการ

“ภาพรวมอุตสาหกรรมธุรกิจโรงไฟฟ้าในไทยมีการแข่งขันมากขึ้น แต่ด้วยจุดเด่นของเราคือความเป็นผู้เชี่ยวชาญก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กและ EPC นับว่าสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของประเทศด้านพลังงานทดแทนในระยะยาว ยกตัวอย่างแผนระยะยาวถึงปี 2580 รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมโรงไฟฟ้าประเภทนี้ไม่ต่ำกว่า 3,000 MW เป็นโอกาสการเติบโตของบริษัทในอนาคต ส่วนการขยายงานต่างประเทศบริษัทยังมองหาโอกาสอย่างต่อเนื่องหากธุรกิจของบริษัทเป็นไปตามเป้าหมาย น่าจะเห็นความชัดเจนของการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศได้ช่วงปลายปี 2564 ได้ทันที”

นายเศรษฐศิริ กล่าว

สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนนั้นบริษัทจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.การขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มโรงไฟฟ้าเพิ่มจำนวนเมกะวัตต์ 2.ชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน หรือภาระหนี้สินอื่นใดของกลุ่มบริษัท และ 3.สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียน และใช้เพื่อการพัฒนาโครงการและต่อยอดโครงการใหม่ๆ ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2563 บริษัทมีระดับหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ประมาณ 1 เท่า ซึ่งคาดว่าภายหลังจากการระดมทุนและนำเงินบางส่วนมาชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันจะลดระดับ D/E ให้ต่ำกว่า 1 เท่าได้ ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่า
อุตสาหกรรม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ส.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top