สธ.คาดอีก 2 สัปดาห์ ยอดผู้ป่วยโควิดกลับภูมิลำเนาจะถึงจุดพีค-ล่าสุดใกล้แสนคน

นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่กทม. และปริมณฑลที่ยังอยู่ในอัตราสูงนั้น ส่งผลให้มีประชาชนส่วนหนึ่งที่เป็นผู้ป่วยโรคโควิด-19 ต้องเดินทางกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนาเดิม เนื่องจากสถานการณ์ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล กำลังประสบปัญหาขาดแคลนเตียง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เตียงของจังหวัดอื่นๆ ในภาพรวมมีอัตราการครองเตียงสีแดงอยู่ที่ 75% หรือเหลืออยู่ประมาณ 1,000 เตียง ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับที่เพียงพอสำหรับการรองรับผู้ป่วยอาการหนักอยู่ และคาดว่าในอีก 2 สัปดาห์จากการย้ายไปรักษาที่ภูมิลำเนา จะมีจำนวนผู้ป่วยในพื้นที่ต่างจังหวัดสูงขึ้นจนถึงจุดพีคสุด

ยอดผู้ป่วยโควิดกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาแล้วเกือบ 1 แสนราย

สำหรับจำนวนผู้ป่วยจากกทม. และปริมณฑล ที่เดินทางกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาเดิมตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ถึง 4 ส.ค. อยู่ที่ 94,664 ราย โดยการดำเนินการของผู้ป่วยที่เดินทางกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา มีทั้งผู้ป่วยที่ติดต่อและเดินทางกลับด้วยตนเอง, จังหวัดมีมาตรการ และกระบวนการของตนเอง, ท้องถิ่นดำเนินการจัดหารถมารับกลับ และการส่งกลับจากนโยบายภาครัฐ โดยความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และภาคเครือข่าย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่จะเดินทางกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาจะต้องทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kid (ATK) หรือ RT-PCR และจะต้องได้รับการประเมินสภาพผู้ป่วยเบื้องต้น เพื่อแยกตามอาการความรุนแรงจากบุคลากรทางการแพทย์ก่อน นอกจากนี้ จะต้องติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องล่วงหน้า เพื่อให้ปลายทางมีความพร้อมในการเตรียมการรองรับผู้ป่วย

เช่น ติดต่อผ่านทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งจะประสานกับทางกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กองทัพบก กระทรวงคมนาคม เพื่อจัดรถรับผู้ป่วยกลับไปรักษา พร้อมมีแพทย์วิดีโอคอลให้คำปรึกษาระหว่างการเดินทาง

พร้อมกันนี้ ผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามหลัก DMHT ตลอดระหว่างการเดินทาง เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น โดยแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการแวะระหว่างทางมากที่สุด แต่หากมีความจำเป็น จะต้องมีการรักษาความสะอาดอยู่เสมอ ทั้งนี้ หากประสบปัญหาระหว่างทางให้ติดต่อที่ 1669 เพื่อรับคำแนะนำต่อไป

หลังจากการประเมินสภาพผู้ป่วย หากพบว่าเป็นผู้ป่วยสีเขียว หรือผู้ป่วยติดเชื้อไม่มีอาการ จะพิจารณารักษาตัวในระบบ Home Isolation (HI), Community Isolation (CI), โรงพยาบาลสนาม, Hospitel หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ถ้าเป็นผู้ป่วยสีเหลือง หรือผู้ป่วยติดเชื้อมีอาการไม่รุนแรง จะพิจารณารักษาตัวในโรงพยาบาลชุมชน ส่วนผู้ป่วยสีแดงหรือผู้ป่วยติดเชื้อมีอาการรุนแรง จะพิจารณารักษาตัวในโรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลศูนย์

ด้านสถานการณ์เตียงของจังหวัดในเขตสุขภาพ 12 แห่ง ยกเว้นกทม. และปริมณฑล มีจำนวนเตียงทั้งหมด 156,189 เตียง ใช้ไปแล้ว 114,786 เตียง คิดเป็น 73.49% จึงเหลือเตียงว่างทั้งหมด 41,185 เตียง ซึ่งถือว่ายังเพียงพอสำหรับการรองรับผู้ป่วย โดยหากประสบปัญหาเตียงขาดแคลนโดยเฉพาะเตียงสีเหลือง และสีแดง ขอให้ประชาชนวางใจ เนื่องจาก สธ. ได้วางแผนในการบริหารจัดการเตียงให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ เช่น การส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลระหว่างเขตสุขภาพ เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ส.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top